ในตอนที่แล้วได้กล่าวถึงการขุดคลองลัดที่ทำให้เกิดแม่น้ำเจ้าพระยาสายใหม่ ซึ่งช่วยย่นระยะทางและอำนวยความสะดวกให้กับชาวบ้านและพ่อค้า รวมถึงทูตานุทูตที่มาติดต่อค้าขายกับกรุงศรีอยุธยา การเปลี่ยนแปลงนี้ยังทำให้คลองบางกอกใหญ่กลายเป็นชุมชนของข้าหลวงในสมัยกรุงธนบุรี โดยมีการตั้งบ้านเรือนของคนจีนที่เคยช่วยเหลือพระองค์และอพยพมาตั้งถิ่นฐานที่นี่ ชาวบ้านจึงเรียกคลองนี้ว่า “คลองบางข้าหลวง” หรือ “คลองบางหลวง”
.
นอกจากนี้ การขุดคลองลัดทำให้กรุงธนบุรีมีลักษณะเป็นเกาะ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “บางเกาะ” ที่ต่อมาได้เพี้ยนเป็น “บางกอก” โดยยังมีข้อสันนิษฐานว่า ชื่อนี้อาจมาจากต้นมะกอกที่ขึ้นชุกชุมในพื้นที่ดังกล่าว ต้นมะกอกเหล่านี้เกิดจากการที่บริเวณนี้เคยเป็นสวนผลไม้ที่อุดมสมบูรณ์จากตะกอนที่แม่น้ำเจ้าพระยาทับถมไว้
.
จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ชุมชนบางกอกยังคงเป็นแหล่งสวนผักผลไม้ที่รู้จักกันดี โดยผักผลไม้ส่วนใหญ่ที่ส่งเข้ามายังกรุงเทพฯ มาจาก "สวนในบางกอก" หรือจาก "สวนนอกบางช้าง" ที่อัมพวา สมุทรสงคราม แม้ว่าในปัจจุบันพื้นที่ฝั่งธนบุรีที่เคยเป็นสวนผลไม้ได้กลายเป็นตึกรามและคอนโดมิเนียมไปเกือบหมดแล้ว