หลี่เจียนหลี หรือ เจนหลี สาววัย 27 ปี ลูกหลานชาวไทยเชื้อสายจีน เธอเรียนจบด้านการออกแบบนิเทศศิลป์ แม้จะอยู่ในวัย 27 ปี แต่เจนหลีก็ไม่ได้ทำงานประจำเป็นหลักแหล่ง แต่ทำอาชีพอิสระ ด้วยการวาดภาพประเภทดิจิทัลอาร์ต ภาพที่เจนหลีวาดเป็นคาแรคเตอร์ตัวการ์ตูนทั่วไปไม่ได้ ลงขายในโลกออนไลน์ เรียกว่า เอ็มเอฟที เป็นช่องทางการหาเงินในยุคสมัยใหม่ที่ทางบ้านไม่เข้าใจนัก แต่ก็ไม่ได้มีใครว่าอะไร เพราะความเป็นเพศหญิงในครอบครัวเชื้อสายจีน เธอรู้ดีว่าความคาดหวังตกไปอยู่กับลูกหลานชายหมดแล้ว
.
เจนหลีมีพี่ชายหรืออาเฮียสองคน ชื่อ ต้าหลีกับตงหลี ทั้งตระกูลอาศัยอยู่ในย่านเยาวราชมาตั้งแต่ 80 ปีก่อน ทำธุรกิจตัดเย็บชุดเทพเจ้าจีนสำหรับการทรงเจ้าในพิธีกินเจ โดยธุรกิจดำเนินมาถึงรุ่นที่ 3 รุ่นพ่อแม่ของเจนหลีก็ได้สืบทอดธุรกิจนี้ แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ธุรกิจซบเซา จึงได้จับทางใหม่เป็นการซื้อขายผ้าไหมจีนแทน และกิจการก็รุ่งเรืองขึ้นในรุ่นที่ 4 รุ่นอาเฮียทั้งสอง ณ ปัจจุบัน ในบรรดาครอบครัวชาวไทยจีนที่เป็นที่รู้กันด้านความลำเอียงต่อเพศลูกหลาน เจนหลีไม่เคยรู้สึกถึงการถูกแบ่งแยกขนาดนั้น ด้วยอาม่าและป๊าม๊าไม่ได้บังคับให้ต้องทำงานบ้านหรือมาบังคับการเรียนใดๆ แต่เจนหลีพึ่งรู้ตัวว่าไม่มีใครคาดหวังในตัวเองก็ตอนที่อาม่าได้จัดการมรดก
.
โดยธุรกิจครอบครัวที่ดำเนินการมา 80 ปี ได้ถูกยกให้อาเฮียทั้งสองช่วยกันบริหารดูแลพร้อมกับที่ดินและบ้านจัดสรรกันคนละหลัง ส่วนเจนหลีกลับได้เพียงตึกทาวเฮ้าท์สามชั้นในย่านเยาวราชนี้ซึ่งเป็นบ้านเดิมที่ทุกคนอาศัยอยู่ร่วมกันมาอย่างยาวนาน เจนหลีน้อยใจแต่ไม่ได้ประท้วงอะไรกับการแบ่งมรดกครั้งนี้ ป๊าม๊าและอาเฮียได้ทำการเก็บของ ย้ายไปอยู่หมู่บ้านจัดสรรย่านอื่น ส่วนบ้านหลังนี้เหลือเจนหลีที่อาศัยอยู่กับอาม่าสองคน
.
ในระหว่างการเก็บกวาด ขนย้ายของเจนหลีเข้าไปในห้องเก็บของ ที่เต็มไปด้วยสิ่งของสำหรับธุรกิจดั้งเดิมของที่บ้าน เหล่าชุดเทพเจ้าจีนที่อยู่ในถุงห่อ เจนหลีพบอัลบั้มรูปถ่าย แฟ้มเก็บภาพ ข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ที่เคยกล่าวถึงชุดเทพเจ้าจีนที่ร่างทรงจะใส่ในเทศกาลกินเจ เพื่อให้องค์เทพเจ้าจีนที่ตนนับถือมาประทับในร่าง เจนหลีพึ่งรู้ว่าธุรกิจนี้เคยรุ่งเรืองมากถึงขั้นเป็นขบวนแห่ยิ่งใหญ่ในสมัยก่อน เจนหลีจึงได้ไปพูดคุยกับอาม่าถึงเรื่องราวแต่ก่อน อาม่าจึงเล่าว่า การยกบ้านหลังนี้ให้เจนหลีมีเหตุผลบางอย่าง อาม่าอยากให้อาชีพดั้งเดิมของตระกูลกลับมามีชีวิตอีกครั้ง และเห็นว่าเจนหลีเหมาะกับการฝากความหวังไว้
.
หลังจากเจนหลีได้ฟังเรื่องราวและรับรู้ถึงคุณค่าของที่มาการตัดเย็บชุดเทพเจ้าจีน เธอได้รับแรงบันดาลใจจึงได้นำเทพเจ้าจีนองค์ต่างๆมาสร้างเป็นคาแรคเตอร์การ์ตูน และวาดขายบนออนไลน์จนเริ่มได้รับความสนใจ มีชาวต่างชาติบนอินเทอร์เน็ตต้องการซื้อภาพมากขึ้น เมื่อระยะเวลาผ่านไป ภาพวาดของเจนหลีมีเอกลักษณ์และเรื่องราวในตัวเองมากขึ้น จากชาวต่างชาติ เริ่มมีผู้ซื้อเป็นกลุ่มลูกค้าฝั่งเอเชีย และคนไทยเริ่มรู้จักเจนหลีมากขึ้นในนามนักวาด “หลี่เจนหลี”
.
เจนหลีนำภาพวาดของตนเองมาจัดเป็นนิทรรศการ ประกอบกับการตั้งชุดเทพเจ้าจีนจากธุรกิจดั้งเดิมของเธอมาจัดแสดงประกอบกัน โดยสถานที่จัดแสดงก็คือ ชั้นหนึ่งของบ้านทาวเฮ้าท์ในเยาวราชหลังนี้นี่เอง ในนิทรรศการยังมีภาพถ่ายเรื่องราวของครอบครัวเธอ ตั้งแต่รุ่น 1 ที่เริ่มเปิดร้าน ภาพตัดเย็บชุด ภาพม้าทรงหรือคนทรงเจ้าที่มาสั่งตัดชุด จากขบวนแห่เหตุการณ์กินเจเมื่อ 60 ปีก่อน เพื่อบอกเล่าเรื่องราว วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ของคนไทยเชื้อสายจีนในที่แห่งนี้ ก่อนที่เยาวราชจะกลายเป็นเพียงย่านธุรกิจอาหารทั่วไป เพราะคนไทยจีนรุ่นใหม่ปิดกิจการดั้งเดิม และย้ายออกจากที่นี้ไปเยอะแล้วในปัจจุบัน
.
อาม่าเห็นคนมานิทรรศการนี้และรู้สึกอิ่มเอมใจที่ความรู้ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ของธุรกิจนี้ยังไม่สาบสูญไปจริงๆ พร้อมบอกเจนหลีว่าแม้ตนจะไม่อยู่บนโลกนี้แล้ว แต่เชื่อว่าธุรกิจและประเพณีชุดเทพเจ้าจะยังคงอยู่ต่อไปได้ด้วยวิธีการในแบบของเจนหลีเอง เยาวราชยังมีลมหายใจของวัฒนธรรมไทยจีนอยู่ ณ บ้านหลังนี้ และนี่คือมรดกทางวัฒนธรรมที่มีค่ามากที่สุดของอาม่าที่มอบให้หลานสาวคนเดียวของตระกูลหลี