บทความ / Halloween ภูตผี ความตาย และเพลงคลาสสิก
Music
Halloween ภูตผี ความตาย และเพลงคลาสสิก
30 ต.ค. 64
2,414
รูปภาพในบทความ Halloween  ภูตผี ความตาย และเพลงคลาสสิก

เทศกาล "ฮาโลวีน" มีที่มาจากเทศกาล Samhain ของชาวเซลติกโบราณ ซึ่งถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ และเป็นโอกาสการเฉลิมฉลองจุดสิ้นสุดของช่วงสว่างเข้าสู่ช่วงมืดของปี นอกจากนี้ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งเรียกวันนี้ว่าเป็น “เทศกาลแห่งความตาย” เพราะเชื่อว่าเป็นวันที่โลกซึ่งเราอาศัยอยู่กับโลกของคนตายเข้าใกล้กันมากที่สุด ทำให้วิญญาณต่าง ๆ สามารถเดินทางผ่านได้อย่างเป็นอิสระ  

แล้วทำไมวันฮาโลวีนถึงต้องแต่งตัวด้วยชุดผี ? นั่นก็เพราะต้องการทำให้ภูตผีปิศาจเข้าใจว่าเป็นพวกเดียวกัน

ในบรรยากาศของเทศกาล Halloween ผมขอแนะนำ เพลงคลาสสิก ที่มีกลิ่นอายความเชื่อเรื่องของผี วิญญาณ และโลกหลังความตาย รวมทั้งเพลงที่ถูกนำไปใช้ในวัฒนธรรม Pop Culture ตามสื่อต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความตาย ไม่ว่าจะเป็นในภาพยนตร์หรือแม้แต่การ์ตูนให้ผู้อ่านรู้จักกัน 

(Johann Sebastian Bach)

เริ่มจากเพลง Toccata and Fugue in D minor ซึ่งประพันธ์โดยคีตกวีชาวเยอรมัน Johann Sebastian Bach เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นเอกของเขาและเป็นหนึ่งในบทเพลงคลาสสิกที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลก เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านคงเคยได้ฟังเพลงนี้มาแล้ว ทั้งนี้ Toccata และ Fugue คือรูปแบบดนตรีประเภทหนึ่ง โดย Toccata จะเป็นการเล่นโน้ตเร็ว ๆ ซ้ำไปซ้ำมา ส่วน Fugue จะมีทำนองหลักเป็นทำนองที่ 1 แล้วมีทำนองที่ 2 เล่นตามหลังมา อาจมีทำนองที่ 3 หรือ 4 ตามมาเป็นโน้ตเดียวกันแต่เล่นไม่พร้อมกัน ระหว่างนั้นทำนองที่ 1 ก็จะยังคงดำเนินต่อไป บทเพลงที่มีความซับซ้อนในลักษณะนี้จึงกลายเป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมมากในยุคบาโรก

Piano Sonata หมายเลข 2 ของ Frederic Chopin ก็เป็นอีกเพลงที่หลาย ๆ คนน่าจะเคยได้ยิน เพลงนี้มีทั้งหมด 4 ท่อน แต่ที่จะแนะนำคือท่อนที่ 3 ชื่อว่า "Funeral March" หรือ "การเดินแห่ศพ" ตอนต้นของท่อนจะเริ่มด้วยเสียงคล้ายกับระฆังในโบสถ์ จากนั้นก็จะเปลี่ยนอารมณ์ทำนองดนตรีให้มีความอบอุ่นปลอบประโลมจิตใจในตอนหลัง งานศพของ Chopin รวมไปถึงผู้ที่มีชื่อเสียงเช่น John F. Kennedy อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา และ Winston Churchill อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษก็ใช้บทเพลงนี้บรรเลงด้วย

 

(Franz Liszt)

เพลงถัดมาคือ Totentanz ของ Franz Liszt เพลงนี้มีชื่อเป็นภาษาเยอรมันแปลว่า "การเต้นรำของคนตาย" แต่งสำหรับ Piano Solo ร่วมกับวงออเคสตร้า (Piano concerto) โดย Liszt ได้รับแรงบันดาลใจจากการเดินทางไปเมืองปิซาที่อิตาลี แล้วไปเห็นภาพวาดจากยุคศตวรรษที่ 14 ชื่อว่า "The Triumph of death" หรือ "ชัยชนะของคนตาย" เป็นภาพของโครงกระดูกเต้นรำร่วมกับคนที่มีชีวิต บทเพลงจะเริ่มด้วยเปียโนเสียงต่ำมาก ๆ คือข้างซ้ายสุด  แล้วจะมีเสียงที่โดดเด่นมากคือทรอมโบน ซึ่งเปรียบเสมือน เทพเฮดีส เทพแห่งความตายที่อยู่ในนรก จึงมีความดุดัน แสดงอารมณ์เกลียดชัง ท่วงทำนองหลักของเพลงนี้ นักวิเคราะห์หลายคนวิเคราะห์ว่าแต่ละเวอร์ชันสื่อถึงคาแรคเตอร์ของตัวละครต่าง ๆ เช่น วัยรุ่นสกปรก คนที่น่ารังเกียจ มีทั้งพระ ทหาร หญิงสาว เป็นต้น

 

(Xylophone)  

บทเพลงเกี่ยวกับความตายนี้ ไม่ได้มีเพียง Liszt คนเดียวที่นำมาประพันธ์ ชาวฝรั่งเศสชื่อ Camille Saint - Saëns ก็ได้เห็นภาพวาดโครงกระดูกเต้นรำเหมือนกับ Liszt แต่ยังไม่ชัดเจนว่าเป็นภาพเดียวกันหรือไม่ เพราะภาพ "Triumph of death" นี้เป็นแรงบันดาลใจให้คนที่เห็นอีกหลายคนนำไปวาดภาพในภายหลังด้วย ซึ่งแนวดนตรีของ Camille Saint - Saëns ก็ได้รับอิทธิพลจาก Liszt เช่นกัน

เพลงต่อไปที่จะแนะนำชื่อว่า "Danse Macabre" ซึ่งมีความหมายว่า Dance of The Dead เหมือนกับ Totentanz โดยเพลงนี้เป็นของ Saint - Saëns เริ่มต้นด้วยเสียง ฮาร์ป ซึ่งจะเล่นตัวเดิมซ้ำ ๆ ทั้งหมด 12 ครั้ง เปรียบเสมือนเสียงนาฬิกาที่ตีบอกเวลาตอนเที่ยงคืนก่อนจะเข้าสู่วันฮาโลวีน เมื่อประตูเปิด วิญญาณก็เดินทางเข้ามายังโลกได้ หลังจากนั้นจะตามมาด้วยเสียง ไวโอลิน ซึ่งเป็นตัวแทนของโครงกระดูก

ความพิเศษอีกอย่างของบทเพลงนี้คือการใช้เครื่องดนตรีอย่าง ไซโลโฟน (Xylophone) เพิ่มเข้ามา เป็นเครื่องกระทบที่มีลักษณะคล้ายระนาด อาจเรียกได้ว่าเป็นระนาดไม้ขนาดเล็กของดนตรีตะวันตก หากผู้อ่านลองฟังความแตกต่างระหว่าง Danse Macabre และ Totentanz จะพบว่าผลงานของ Liszt ค่อนข้างซีเรียสน่ากลัว ในขณะที่ Saint - Saëns นำเสนอดนตรีโดยเน้นความสนุกสนาน แต่มี Dark Comedy ปะปนอยู่ด้วย  

เพลงสุดท้ายที่จะแนะนำคือ "The Isle of the Dead" โดยนักประพันธ์ชาวรัสเซีย Sergei Rachmaninoff เขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพวาด "Isle of the Dead" ของ Arnold Böcklin ว่าด้วยเรื่องของ Charon คนแจวเรือเพื่อนำวิญญาณของผู้ที่เสียชีวิตข้ามแม่น้ำสติกซ์จากโลกมนุษย์ไปยังยมโลก ในอดีตนั้นญาติพี่น้องจะใส่ "เหรียญ" ในปากของผู้เสียชีวิตเพื่อใช้เป็นค่าโดยสารจ่ายให้ Charon เพลงนี้จะเริ่มต้นด้วยเสียงฝีพายของ Charon กระทบกับผืนน้ำ ระหว่างทาง เพลงก็จะใช้ทำท่วงทำนองสั่น ๆ สื่อถึงการจมลงอย่างช้า ๆ

นอกจากเพลงคลาสสิกที่กล่าวไปข้างต้น ยังมีอีกหลายเพลงที่เกี่ยวข้องกับผี วิญญาณ และโลกหลังความตาย หากผู้อ่านอยากทราบว่ามีเพลงอะไรอีกบ้าง ตามไปฟังต่อได้ในรายการ GenZ and Classical Music EP 30 เพลงคลาสสิกกับเทศกาลฮาโลวีน ทาง Thai PBS Podcast

 

คลิก >> Website | SoundCloud | Google Podcast

หรือฟังทาง Application | Thai PBS Podcast 

สแกน QR Code ดาวน์โหลดได้ที่นี่

ข้อมูล : ณัฏฐา ควรขจร
เรียบเรียง : จิตริน เมฆเหลือง

 

แผ่นเสียง แผ่นเสียง
กำลังออกอากาศ ไม่มีการออกอากาศ แผ่นเสียง Radio แผ่นเสียง Podcast เล่นแผ่นเสียง พักแผ่นเสียง
คลิปเสียงถัดไป