บทความ / ทำไมแผ่นดินไหวบนโลกถึงแตกต่างจากดาวเคราะห์ดวงอื่น
Sci & Tech
ทำไมแผ่นดินไหวบนโลกถึงแตกต่างจากดาวเคราะห์ดวงอื่น
02 พ.ค. 68
17
รูปภาพในบทความ ทำไมแผ่นดินไหวบนโลกถึงแตกต่างจากดาวเคราะห์ดวงอื่น

เมื่อนึกถึงแผ่นดินไหว หลายคนอาจเชื่อมโยงภาพว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะบนโลกของเราเป็นหลัก แต่ในความเป็นจริงแล้ว ปรากฏการณ์แผ่นดินไหวสามารถเกิดขึ้นบนดาวเคราะห์ดวงอื่นในระบบสุริยะและดวงจันทร์ได้ด้วยเช่นกัน โดยลักษณะและสาเหตุของแผ่นดินไหวในแต่ละดวงแตกต่างกันออกไปจากปัจจัยด้านโครงสร้างภายใน สภาพแวดล้อม และพลังงานความร้อนที่หลงเหลืออยู่ภายในดาวเคราะห์แต่ละดวง

โลกของเรามีแผ่นเปลือกโลก (Plate Tectonics) ซึ่งลอยตัวและเคลื่อนที่อยู่บนชั้นเนื้อโลก (Mantle) ที่ยังคงมีพลังงานความร้อนเหลืออยู่จากการก่อตัวของโลกและจากการสลายตัวของธาตุกัมมันตรังสีอย่างยูเรเนียม ทอเรียม และโพแทสเซียม ความร้อนนี้ทำให้เนื้อโลกยังคงเกิดกระแสการไหลวน (Convection) อย่างต่อเนื่อง และน้ำบนพื้นผิวก็ทำให้เปลือกโลกเย็นตัวลงอย่างรวดเร็วเกิดการแตกออกเป็นหลาย ๆ แผ่นเป็นแผ่นเปลือกโลกอย่างที่ทราบกัน โดยแผ่นเหล่านี้ก็มีทั้งเคลื่อนที่ชนกัน เลื่อนตัว หรือแยกออกจากกัน และเป็นที่มาของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และน้ำที่แทรกตัวอยู่ในเนื้อโลกรวมถึงในรอยเลื่อนยังช่วยลดแรงเสียดทาน ทำให้แผ่นดินไหวสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายเมื่อพลังงานสะสมถึงจุดที่เปลือกโลกไม่สามารถรับได้อีกต่อไป

ภาพวาดแผ่นเปลือกโลกหลัก ซึ่งโลกเป็นดาวเคราะห์เพียงดวงเดียวที่มีลักษณะทางธรณีเช่นนี้ - ที่มา M.Bitton

ในทางตรงกันข้าม ดวงจันทร์ของโลกมีแผ่นดินไหวที่เรียกว่า Moonquakes แต่สาเหตุหลักเกิดจากการที่ตัวดวงจันทร์หดตัวเนื่องจากการเย็นตัวลงอย่างช้าๆ และจากแรงโน้มถ่วงของโลกที่กระทำต่อดวงจันทร์ ลักษณะการเกิดแผ่นดินไหวของดวงจันทร์จึงแตกต่างจากโลก และพลังงานที่ปลดปล่อยออกมาก็น้อยกว่าอย่างมาก ดาวอังคารเองก็มีกิจกรรมที่เรียกว่า Marsquakes ซึ่งถูกค้นพบโดยภารกิจ InSight ของ NASA การไหวตัวของพื้นดาวดาวอังคารส่วนใหญ่เกิดจากการแตกร้าวของเปลือกดาวเนื่องจากการเย็นตัวมากกว่าการเคลื่อนที่ของเปลือกดาว เพราะดาวอังคารไม่มีเปลือกดาวที่เป็นแผ่นย่อยเช่นเดียวกับโลก และเปลือกดาวตอนนี้คาดการณ์ว่าน่าจะมีความหนาและแข็งตัวจนเกือบสมบูรณ์แล้ว

ดาวพุธ ซึ่งเป็นดาวเคราะห์ที่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด ก็มีร่องรอยของการแตกร้าวขนาดใหญ่จากการหดตัวของตัวดาวเช่นกัน แต่เนื่องจากดาวพุธมีขนาดเล็กมากและเย็นตัวลงอย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วงต้นของประวัติศาสตร์ระบบสุริยะ จึงไม่มีการเคลื่อนที่ของเปลือกดาวอีกต่อไป ในขณะที่ดาวศุกร์ แม้ว่าจะมีสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงผิวดาวอยู่บ้างในอดีต แต่ดูเหมือนว่ากระบวนการเหล่านั้นเกิดขึ้นแบบเป็นช่วง ๆ และไม่ต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอเหมือนโลก และจากการสำรวจ ดาวศุกร์มีชั้นเปลือกโลกที่หนาและแข็งจนเกินกว่าที่จะเกิดแผ่นเปลือกดาวคล้ายกับโลกได้

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้โลกมีแผ่นดินไหวแตกต่างจากดาวเคราะห์ดวงอื่น ได้แก่ ขนาดของโลกที่ใหญ่พอจะเก็บกักความร้อนภายในได้ยาวนานหลายพันล้านปี การมีน้ำอยู่ในเนื้อโลกและเปลือกโลกซึ่งช่วยลดแรงเสียดทานระหว่างแผ่นเปลือก และการที่ระบบหมุนเวียนพลังงานความร้อนภายในชั้นเนื้อโลกยังดำเนินอยู่จนถึงปัจจุบัน แผ่นเปลือกของโลกจึงสามารถเคลื่อนที่และสร้างปลดปล่อยพลังงานออกมาในรูปของแผ่นดินไหวได้อยู่จนถึงปัจจุบัน

แม้แผ่นดินไหวหรือการไหวตัวทางธรณีฟิสิกส์จะพบได้ในหลายดวง แต่สาเหตุ รูปแบบ และพลังงานที่เกี่ยวข้องแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ โลกเป็นดาวเคราะห์ที่ยังมีชีวิตในเชิงธรณีวิทยา (Geologically active) ในขณะที่ดาวเคราะห์ดวงอื่นส่วนใหญ่ได้เย็นตัวลงและสงบนิ่งไปแล้วตั้งแต่หลายพันล้านปีก่อน การทำความเข้าใจแผ่นดินไหวบนโลกและเปรียบเทียบกับดาวดวงอื่นไม่เพียงแต่ช่วยให้เราเข้าใจโลกของเราเองมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเปิดมุมมองใหม่ในการศึกษาวิวัฒนาการของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะโดยรวมอีกด้วย


 


ฟังรายการได้ทาง


 

แผ่นเสียง แผ่นเสียง
กำลังออกอากาศ ไม่มีการออกอากาศ แผ่นเสียง Radio แผ่นเสียง Podcast เล่นแผ่นเสียง พักแผ่นเสียง
คลิปเสียงถัดไป