บทความ / กว่าจะเป็นจันทรายาน 3 ยานลำแรกของอินเดียที่ลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ
Sci & Tech
กว่าจะเป็นจันทรายาน 3 ยานลำแรกของอินเดียที่ลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ
19 เม.ย. 67
348
รูปภาพในบทความ กว่าจะเป็นจันทรายาน 3 ยานลำแรกของอินเดียที่ลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2023 เวลาประมาณ 19.32 น. ตามเวลาประเทศไทย จันทรายาน 3 ได้ลงจอดบนดวงจันทร์ ทำให้อินเดียกลายเป็นชาติที่ 4 ถัดจากโซเวียต อเมริกา และจีน ที่สามารถส่งยานสู่พื้นผิวของดวงจันทร์ได้สำเร็จ แต่กว่าที่จันทรายาน 3 จะเกิดขึ้นได้จริง อินเดียเองก็ต้องใช้เวลากว่าทศวรรษในการมาถึงจุดนี้เช่นกัน

อินเดียได้ส่งยานไปยังดวงจันทร์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 2008 กับภารกิจจันทรายาน 1 ที่เป็นยานประเภทโคจรรอบ (Orbiter) ขนาดเล็กเพียงแค่ประมาณ 1 ตัน ซึ่งถูกออกแบบไว้ให้โคจรอยู่ที่ความสูงประมาณ 200 กิโลเมตรเหนือพื้นผิว จันทรายาน 1 ได้มีการติดตั้งอุปกรณ์ประเภทต่าง ๆ เพื่อเก็บข้อมูลของดวงจันทร์ ในท้ายที่สุดแล้ว ภารกิจการส่งจันทรายาน 1 ได้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี และนอกจากการเป็นภารกิจที่ทำให้อินเดียได้ฝึกมือในการทำยานอวกาศไปยังดวงจันทร์เพียงอย่างเดียวแล้ว จันทรายาน 1 ยังได้ให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญหลายชิ้น รวมไปถึงการยืนยันการมีอยู่ของน้ำแข็งทางขั้วใต้ของดวงจันทร์อีกด้วย

จันทรายาน 1

หลังจากความสำเร็จของจันทรายาน 1 อินเดียได้วางแผนการพิชิตดวงจันทร์ครั้งใหม่ด้วยเป้าหมายที่ใหญ่กว่าเดิม คือการส่งยานไปลงจอด (Lander) บนดวงจันทร์ที่ไม่มีชาติใดทำภารกิจในรูปแบบนี้เลย นับตั้งแต่ภารกิจ Luna-24 ของโซเวียตในปี ค.ศ. 1976

ในช่วงตั้งไข่ของภารกิจจันทรายาน 2 อินเดียได้เซ็นสัญญาความร่วมมือพัฒนาโครงการนี้กับประเทศรัสเซียในส่วนของยานลงจอด แต่ในช่วงประมาณปี ค.ศ. 2012-2013 หลังจากที่อินเดียสามารถพัฒนาส่วนยานโคจรได้จนสำเร็จแล้ว รัสเซียก็กลับไม่สามารถส่งมอบงานส่วนของยานลงจอด รวมถึงอุปกรณ์อื่น ๆ ตามที่สัญญาไว้ได้ ซึ่งส่งผลให้โครงการจันทรายาน 2 ถูกพับไปชั่วคราว โดยที่ชิ้นส่วนหลายชิ้นของโครงการได้ถูกนำไปใช้ในโครงการมังคลายาน (ยานโคจรรอบดาวอังคารลำแรกของอินเดีย) แทน และประสบความสำเร็จในการเข้าวงโคจรดาวอังคารในปี ค.ศ. 2014 จนเป็นประเด็นร้อนแรงที่ถูกพูดถึงในวงการสำรวจอวกาศในช่วงนั้น

มังคลายานระหว่างการติดตั้งกับจรวด

ในเวลาถัดมา ประเทศอินเดียได้รื้อโครงการจันทรายาน 2 กลับมาพัฒนาต่ออีกครั้ง และเริ่มลองผิดลองถูกออกแบบยานลงจอดด้วยตัวเอง โดยตั้งชื่อว่า "วิกรม" ตามชื่อของ ดร.วิกรม สารภัย (Vikram Sarabhai) ผู้ก่อตั้ง ISRO หน่วยงานอวกาศของอินเดีย ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งการสำรวจอวกาศของอินเดีย และยังได้ออกแบบโรเวอร์ขนาดเล็กชื่อ "ปรัชญาณ" ติดไปกับยานลงจอดอีกด้วย

จันทรายาน 2 ถูกปล่อยในช่วงปลายปี ค.ศ. 2019 และเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์ได้สำเร็จ แต่ยานลงจอดวิกรมของพวกเขาได้สูญเสียการควบคุมและตกกระแทกดวงจันทร์ในขณะที่ปรับความเร็วเพื่อลงลอดบนพื้นผิว ทำให้อินเดียเสียยานที่เกือบจะกลายเป็นยานลงจอดบนดวงจันทร์ลำแรกของประเทศไป

เรื่องราวทั้งหมดได้นำประเทศอินเดียมาสู่การพัฒนาจันทรายาน 3 ที่มุ่งหมายสานต่อภารกิจของจันทรายาน 2 ให้สำเร็จให้ได้ โดยจันทรายาน 3 ประกอบด้วยส่วนยานโคจร ส่วนลงจอดวิกรม และโรเวอร์ปรัชญาณเช่นเดิม แต่ได้มีการแก้ไขปรับปรุงในหลายจุด ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์​ ซึ่งรวมไปถึงโปรแกรมของส่วนลงจอดที่เป็นที่มาของความผิดพลาดในภารกิจก่อนหน้าด้วย

ยานลงจอดวิกรมและโรเวอร์ปรัชญาณของจันทรายาน 3

จันทรายาน 3 ออกเดินทางจากโลกไปในวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 2023 และไต่วงโคจรไปเรื่อย ๆ จนถึงดวงจันทร์โดยใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ในวันที่ 17 สิงหาคม ยานวิกรมและยานโคจรแยกตัวออกจากกัน ก่อนที่ในอีก 6 วันถัดมา ในวันที่ 23 กรกฎาคม วิกรมก็สามารถลงจอดสู่พื้นผิวดวงจันทร์ได้สำเร็จ

 

 

ฟังรายการได้ทาง


 

แผ่นเสียง แผ่นเสียง
กำลังออกอากาศ ไม่มีการออกอากาศ แผ่นเสียง Radio แผ่นเสียง Podcast เล่นแผ่นเสียง พักแผ่นเสียง
คลิปเสียงถัดไป