บทความ / สหภาพยุโรปกับการส่งมนุษย์กลับไปดวงจันทร์
Sci & Tech
สหภาพยุโรปกับการส่งมนุษย์กลับไปดวงจันทร์
07 มี.ค. 66
820
รูปภาพในบทความ สหภาพยุโรปกับการส่งมนุษย์กลับไปดวงจันทร์

โครงการ Artemis คือความพยายามครั้งใหม่ในการส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์อีกครั้ง หลังจากการสิ้นสุดของภารกิจ Apollo 17 และโครงการ Apollo เมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม โครงการ Artemis มีแง่มุมที่แตกต่างออกไปจาก Apollo ไม่น้อย โดยเฉพาะในเรื่องของเป้าหมายและวิธีการดำเนินงาน

สิ่งที่แตกต่างกันออกไประหว่างเป้าหมายของโครงการ Apollo และ Artemis คือ Apollo เป็นโครงการที่พานักบินอวกาศไปสำรวจพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งของดวงจันทร์ในระยะเวลาสั้น ๆ ส่วนโครงการ Artemis ได้ถูกวางไว้ให้เป็นการวางรากฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์บนดวงจันทร์ในระยะกลางถึงยาว และเป็นการนำร่องภารกิจในการพามนุษย์ไปสู่ดาวอังคาร

เป้าหมายที่ใหญ่ขึ้นอย่างเห็นได้ชัดของโครงการ Artemis และแนวคิดของอุตสาหกรรมอวกาศที่เปลี่ยนแปลงไป ที่มีทั้งหน่วยงานจากรัฐและเอกชนจากทั่วโลกเข้ามาร่วมในธุรกิจนี้ เป็นส่วนขับเคลื่อนสำคัญที่เปลี่ยนวิธีการทำงานของโครงการ Artemis ไปไม่น้อย โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในและนอกสหรัฐฯ เข้ามามีบทบาทอย่างมาก

ยกตัวอย่างเช่น SpaceX ผู้ออกแบบและผลิตระบบลงจอดมนุษย์ (Human Landing System), Blue Origin, Sierra Nevada, Moon Express, Lockheed Martin และบริษัทอื่น ๆ อีกกว่า 10 หน่วยงานที่ทำสัญญาในการเป็นผู้ส่งอุปกรณ์ต่าง ๆ ไปดวงจันทร์ผ่านโครงการ CLPS (Commercial Lunar Payload Services) หรือแม้แต่ Toyota จากญี่ปุ่นที่ทำหน้าที่ผลิตรถสำรวจ (Rover) เพื่อใช้บนดวงจันทร์

อีกหนึ่งหน่วยงานที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในโครงการ Artemis คือ องค์การอวกาศยุโรป หรือ European Space Agency (ESA) ทำหน้าที่ผลิตชิ้นส่วน European Service Module (ESM) ของยานอวกาศ Orion ซึ่งเป็นพาหนะสำหรับการส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์ ที่ประกอบไปด้วยโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ สำหรับการเดินทาง ติดต่อสื่อสาร และดำรงชีพ เช่น ถังเชื้อเพลิง ถังออกซิเจน ส่วนควบคุมอุณหภูมิ เสาวิทยุสื่อสาร ระบบขับเคลื่อน ฯลฯ ถือเป็น 1 ใน 2 ส่วนประกอบหลักของยาน คู่กับ Crew Module ซึ่งเป็นส่วนอยู่อาศัยของนักบินอวกาศ


European Service Module (ESM) ของยาน Orion ในโครงการ Artemis

ผู้รับหน้าที่เป็นผู้ผลิตหลักของ ESA ในการผลิต ESM ก็คือ Airbus Defence and Space โดยมีบริษัทอื่น ๆ ทั่วยุโรปอีกจำนวนมากเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนของ Module ซึ่ง ESM ได้ถูกประกอบที่โรงงานของ Airbus ในยุโรป ก่อนส่งไปให้ NASA ที่สหรัฐอเมริกาเพื่อประกอบเข้ากับส่วนอื่นของยาน Orion

ในช่วงต้นปี 2021 หลังจากที่ ESA กับ Airbus ส่ง ESM-1 ซึ่งเป็น Module ที่จะถูกใช้ในภารกิจ Artemis 1 ไปยังสหรัฐฯ แล้ว หน่วยงานทั้งสองได้จัดงานแถลงข่าวทางออนไลน์ (เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในขณะนั้น) เกี่ยวกับ European Service Module รวมถึงพาสื่อชมห้องประกอบ ESM ในรูปแบบ  Virtual Tour ที่กำลังประกอบ ESM-2 และ ESM-3 ซึ่งจะถูกใช้ในภารกิจ Artemis 2 และ 3 ตามลำดับ

คำถามสุดท้ายที่สื่อได้ถาม ESA และ Airbus ในงานแถลงข่าวครั้งนั้นคือ หน่วยงานทั้งสองมีวิธีคิดวิธีการทำงานที่แตกต่างจาก NASA อย่างไร และมีความคิดอย่างไรเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอวกาศในปัจจุบัน ซึ่ง David Parker ผู้อำนวยการภาค Human and Robotic Exploration ของ ESA ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า ถึงแม้ ESA จะไม่ได้มีงบประมาณหรือทรัพยากรมาก สิ่งที่พวกเขาทำทดแทนส่วนที่ตัวเองขาดก็คือ "การทำสิ่งที่คนยุโรปถนัดกัน" หรือการใช้ ESA เป็นตัวเชื่อมอุตสาหกรรมอวกาศและบริษัทอื่น ๆ ในยุโรป (เช่น  Airbus, Thales, หรือ ArianeSpace) และอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานเหล่านี้ในการทำงาน มากกว่า

การเป็นเสาหลักหรือหน่วยงานใหญ่ที่สั่งทุกอย่างหรือทำทุกอย่างเอง ซึ่งคำตอบดังกล่าวเรียกได้ว่าอธิบายคติการทำงานของอุตสาหกรรมอวกาศยุโรปไว้อย่างชัดเจน

ติดตามเรื่องราวของอุตสาหกรรมอวกาศยุโรป รวมไปถึงความสัมพันธ์ของยุโรปกับวงการอวกาศไทย ผ่านเรื่องเล่าจากงานเชื่อมสัมพันธ์ธุรกิจอวกาศที่ถูกจัดขึ้น ณ GISTDA และ NARIT โดยสถานทูตฝรั่งเศส ได้ใน Starstuff เรื่องเล่าจากดวงดาว

แผ่นเสียง แผ่นเสียง
กำลังออกอากาศ ไม่มีการออกอากาศ แผ่นเสียง Radio แผ่นเสียง Podcast เล่นแผ่นเสียง พักแผ่นเสียง
คลิปเสียงถัดไป