บทความ / ถ้าเราต้องการสำรวจพื้นผิวของดาวสักดวง
Sci & Tech
ถ้าเราต้องการสำรวจพื้นผิวของดาวสักดวง
17 พ.ค. 67
492
รูปภาพในบทความ ถ้าเราต้องการสำรวจพื้นผิวของดาวสักดวง

ถ้าเราต้องการสำรวจพื้นผิวของดาวสักดวง เราจะทำอย่างไรได้บ้าง?

เราอาจยิงดาวเทียมสักดวงไปบินผ่านดาวเคราะห์ดวงนั้นแล้วถ่ายรูปในขณะที่กำลังผ่านดาว โดยวิธีการนี้ถูกเรียกอย่างรวม ๆ ว่าการทำภารกิจแบบ "บินผ่าน" (flyby) แต่ถ้าเราอยากได้ข้อมูลมากยิ่งขึ้น เราอาจสร้างดาวเทียมที่สามารถจุดเครื่องยนต์ตัวเองเข้าสู่วงโคจรของดาวเพื่อให้ดาวเทียมดวงนั้นสามารถเก็บข้อมูลได้ในช่วงเวลาที่ยาวนานขึ้นกว่าแค่การบินผ่าน ซึ่งถูกเรียกว่าการทำภารกิจโคจรรอบดาว (orbiter)

แต่ถ้าเราต้องการสำรวจพื้นผิวของดาวเคราะห์อย่างละเอียดในบางแง่มุม เช่น องค์ประกอบของดินที่เซนเซอร์บนดาวเทียมไม่สามารถให้ข้อมูลได้ เราอาจต้องส่งยานสำรวจที่ถูกเรียกอย่างรวม ๆ ว่า "ยานลงจอด" (lander) ลงไปถึงผิวของดาว ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นการแลกเปลี่ยนความสามารถในการเก็บข้อมูลบางประเภทกับข้อมูลประเภทอื่น ๆ เช่น ถึงแม้การส่งยานโคจรรอบดาวไม่สามารถเก็บข้อมูลอย่างละเอียดของโครงสร้างองค์ประกอบดินบนดาวได้ แต่มันก็อาจใช้ในการทำแผนที่พื้นผิวดาวองค์รวมได้ดีกว่า จากการที่มันสามารถโคจรรอบดาวได้ต่างจากยานลงจอดที่อยู่ได้เพียงแค่ตำแหน่งเดียว


ภาพจำลองของภารกิจ Mars Reconnaissance Orbiter โดยนาซา - ที่มา NASA/JPL/Corby Waste

ด้วยสาเหตุนี้เอง รูปแบบของการทำโครงการสำรวจอวกาศจึงได้มีลักษณะเป็นลำดับที่ดีมากหรือดีน้อยอย่างตายตัว แต่มีความข้องเกี่ยวกับเป้าหมายของการศึกษาของโครงการค่อนข้างมาก คล้ายคลึงกับการเลือกวิธีการเดินทางในชีวิตประจำวันที่เราก็คงไม่ใช้รถแข่งขับขึ้นภูเขา หรือเรือสำราญไปวิ่งบนถนน

รูปแบบของโครงการสำรวจดาวอังคารรูปแบบหนึ่งที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาก็คือการส่งหุ่นยนต์สำรวจเคลื่อนที่ได้หรือ "โรเวอร์" ไปยังพื้นผิวของดาว ซึ่งมองได้ว่ามีความคล้ายคลึงกับการทำยานลงจอดในแง่ของการเป็นภารกิจสำรวจธรณีวิทยาในพื้นที่แคบอย่างละเอียด แต่สามารถแก้ปัญหาข้อหนึ่งของโรเวอร์คือการสามารถเคลื่อนที่ในพื้นที่ลงจอดได้บ้าง ต่างจากยานประเภทลงจอดที่ปักหลักอยู่ที่เดียว ซึ่งเปิดทางให้ผู้ทำโครงการสามารถเดินทางสำรวจในที่ต่าง ๆ ได้มากขึ้น

ในปัจจุบัน ได้มีภารกิจโรเวอร์บนดาวอังคารทั้งหมด 6 ภารกิจที่ทำหน้าที่ในการสำรวจดาวอังคารได้สำเร็จ โดย 5 ใน 6 คันถูกสร้างโดยห้องปฏิบัติการไอพ่นจรวด (Jet Propulsion Laboratory: JPL) ภายใต้นาซา (NASA) ของสหรัฐอเมริกา ได้แก่ยานโซโจเนอร์ (Sojourner) ที่เดินทางถึงดาวอังคารในปี 1997 ยานฝาแฝดสปิริต (Spirit) และออปเพอร์จูนิที (Opportunity) ในปี 2004 ยานคิวริออซิตี (Curiosity) ในปี 2012 และเพอร์เซอเวียแรนซ์ (Perseverance) ในปี 2021

โรเวอร์จู้หรง ส่วนหนึ่งของภารกิจยานอวกาศเทียนเวิ่น–1 โดยองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน - ที่มา China News Service

ในขณะที่ยานลำที่ 6 คือยานจากประเทศจีน "จู้หรง" (Zhurong) ที่ถูกส่งไปพร้อมกับยานลงจอดในภารกิจเทียนเวิ่น-1 (Tianwen-1) ในปี 2020 และถึงดาวอังคารในปี 2021 ในรอบการส่งยาน (Lauch Window) เดียวกับภารกิจเพอร์เซอเวียแรนซ์ ที่จะเกิดขึ้นเพียงแค่ไม่กี่เดือนในทุก 2 ปี ด้วยข้อจำกัดทางฟิสิกส์ที่โลกและดาวอังคารจะเรียงตัวกันอย่างเหมาะสมในระนาบของระบบสุริยะจนสามารถส่งภารกิจไปได้อย่างสะดวก

ติดตามประวัติศาสตร์ของรูปแบบการส่งภารกิจอวกาศ เรื่องราวของโรเวอร์ทั้ง 6 ลำ และโครงการโรเวอร์ที่ล้มเหลวหรือยังไม่ถูกสร้างขึ้นได้ใน Starstuff เรื่องเล่าจากดวงดาว ตอนที่ 101 ย้อนรอยการส่งโรเวอร์ไปดาวอังคาร

 


ฟังรายการได้ทาง


 

บทความอื่นๆ
แผ่นเสียง แผ่นเสียง
กำลังออกอากาศ ไม่มีการออกอากาศ แผ่นเสียง Radio แผ่นเสียง Podcast เล่นแผ่นเสียง พักแผ่นเสียง
คลิปเสียงถัดไป