
สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงในปี ค.ศ. 1945 หลังจากสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ 2 ลูกใส่ประเทศญี่ปุ่น ภายหลังโลกได้เห็นแสนยานุภาพของอาวุธมหาปะลัยชิ้นนี้ นานาประเทศได้เร่งพัฒนาและทดสอบระเบิดนิวเคลียร์เป็นของตัวเอง จนเป็นหนึ่งในชนวนสำคัญที่สร้างความตึงเครียดในเวทีโลกจนกลายเป็นสงครามเย็นในที่สุด
เมฆรูปเห็ดจากการทิ้งระเบิด Fat Man ที่นางาซากิ - Charles Levy - U.S. National Archives and Records Administration
แต่หนึ่งในแผนการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ที่เรียกได้ว่า "แปลก" ที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นโครงการลับสุดยอด รหัส A119 ของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่วางแผนทดลองทิ้งระเบิดไฮโดรเจนบนดวงจันทร์ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อแสดงความสามารถทางการทหารของประเทศ โดยจากแผนการแล้ว ระเบิดลูกนี้ถูกจุดที่เขตแดนระหว่างด้านสว่างและด้านมืดของดวงจันทร์ ที่ส่งผลให้คนบนโลกสามารถเห็นการระเบิดครั้งนี้ได้อย่างชัดเจน
NASA - Arizona State University, Apollo Image Archive, Apollo Browse Gallery, Apollo 15: Mapping (Metric) Camera AS15-M-2776
ในงานภาควิทยาศาสตร์ โครงการได้เสนอให้ส่งอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ไปติดตั้งบริเวณระเบิดเพื่อตรวจวัดค่าต่าง ๆ ซึ่งทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้เข้าใจองค์ประกอบภายในชั้นหินของดวงจันทร์ที่ลึกลงไปได้
อย่างไรก็ตาม นี่อาจนับได้ว่าเป็นโชคดีของมนุษยชาติที่โครงการดังกล่าวถูกยกเลิกไปในเดือนมกราคมปี ค.ศ. 1959 จากข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างแพร่หลายในหมู่นักวิทยาศาสตร์ รวมไปถึงความกังวลว่าการทดลองจะทำให้ดวงจันทร์ปนเปื้อนกัมมันตรังสี ซึ่งอาจส่งผลต่อการวิจัยและการตั้งถิ่นฐานบนดวงจันทร์ในอนาคตได้
แผนการ A119 ถูกปิดเป็นความลับนานหลายทศวรรษถึงช่วงกลางทศวรรษที่ 1990 ที่นักเขียนนาม คีย์ เดวิดสัน (Keay Davidson) ได้ไปพบหลักฐานการมีอยู่ของโครงการเข้าจากจดหมายของคาร์ล เซแกน (Carl Sagan) นักฟิสิกส์ชื่อดังที่เคยโดนดึงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโครงการด้วย ในขณะที่เขากำลังเขียนหนังสือชีวประวัติของคาร์ล เซแกน จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2000 ลีโอนาร์ด ไรฟ์เฟิล (Leonard Reiffel) อดีตผู้บริหารนาซา และผู้ทำโครงการ A119 ได้นำรายละเอียดของโครงการนี้มาเผยแพร่สู่สาธารณะชน
คาร์ล เซแกนกับยานไวกิ้ง - NASA/JPL
อาจมองได้ว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่มนุษยชาติได้ลงนามในสนธิสัญญาอวกาศนานาชาติ ว่าด้วยการห้ามทดลองระเบิดนิวเคลียร์ และงดเว้นกิจกรรมการทหารบนอวกาศไว้ในปี ค.ศ. 1969 ซึ่งทำให้โครงการแบบ A119 ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในปัจจุบัน (ยกเว้นกรณีประเทศใดฝ่าฝืนข้อตกลง) เพื่อให้อวกาศยังเป็นพรมแดนสุดท้ายของมนุษย์ที่ไม่คุกรุ่นจากการเมืองบนโลกมากเสียจนเกินไป
ติดตามประเด็นของเทคโนโลยีนิวเคลียร์กับการสำรวจอวกาศ พร้อมกับเรื่องราวของโรเบิร์ต เจ. ออพเพนไฮม์เมอร์ บิดาแห่งระเบิดนิวเคลียร์ และภาพยนตร์ชีวประวัติของเขาโดยคริสโตเฟอร์ โนแลน ไปกับนิก - ชินะพงษ์ เลี่ยนพานิช และ ปั๊บ - ชยภัทร อาชีวระงับโรค ใน Starstuff ตอน "ออพเพนไฮเมอร์ นิวเคลียร์ และอวกาศ"