
แสงสว่างที่ลดลงของดาว"บีเทลจุส" (Betelgeuse) ในกลุ่มดาวโอริออนหรือดาว"นายพราน" กำลังถูกตั้งข้อสังเกตจากนักดาราศาสตร์ทั่วโลก ว่าแสงดาวบีเทลจูสที่กำลังหรี่ลง ส่งสัญญาณว่าดาวใกล้จะระเบิดเป็น "ซูเปอร์โนวา"
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ รายงานว่า ก่อนหน้านี้ ดาวฤกษ์บีเทลจุส ติดอันดับต้น ๆ ของดาวที่สว่างที่สุดในท้องฟ้า สามารถสังเกตเห็นได้ง่ายจากความสว่างและสีส้ม แต่ช่วงปลายปี 2019 ที่ผ่านมา ความสว่างของดาวลดลง จนไม่ติดอันดับดาวสว่าง 20 ดวง อีกต่อไป
ทำให้นักดาราศาสตร์ใช้เทคโนโลยีได้ทำการติดตามการแปรแสงของดาวบีเทลจุสอย่างใกล้ชิด ทั้งบันทึกภาพและวัดความสว่างของดาว ซึ่งถ้าวันหนึ่งเกิดการระเบิดขึ้น เราอาจจะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เป็นฝ้าฟุ้งกระจายบนท้องฟ้า
ในอดีตชาวพื้นเมืองอะบอริจินในทวีปออสเตรเลียได้มีการบันทึกแสงของดาวฤกษ์สีแดงที่หรี่ลงและสว่างขึ้น นี่จึงไม่ใช่ครั้งแรกของดาวบีเทลจุสที่มีการแปรแสง แต่ที่ผ่านมาดาวดวงนี้ไม่เคยเกิดการหรี่ลงของแสงในอัตราที่เร็วขนาดนี้มาก่อน
บีเทลจุสเป็นดาวฤกษ์ขนาดยักษ์ใหญ่สีแดง หรือ Red Supergiant มีมวลประมาณ 15-25 เท่าของดวงอาทิตย์ มีพลังงานมากว่า 7,500 เท่า อยู่ห่างจากโลก ประมาณ 640 ปีแสง
สีแดงและความสว่างของดาว บอกได้ว่า เชื้อเพลิงไฮโดรเจนในแกนกลางได้หมดลงและได้เปลี่ยนไปเผาผลาญฮีเลียมกลายเป็นคาร์บอนและออกซิเจนแทน จึงเป็นแหล่งกำเนิดของอะตอมธาตุคาร์บอนและธาตุออกซิเจนที่เรากำลังหายใจเข้าไป
การเผาผลาญฮีเลียมนั้น เป็นเพียงความพยายามสุดท้ายของดาวฤกษ์ที่จะต่ออายุ และยืดเวลาเลี่ยงวาระสุดท้ายที่จะมาถึงในไม่ช้า คาดว่า อาจเหลือเชื้อเพลิงฮีเลียมที่ยื้อชีวิตตัวเองอยู่อีกเพียงประมาณ 1 แสนปี
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า
"ถ้าหากเราสังเกตไป ช่วงปีก่อนหรือในอดีตกลุ่มดาวนายพราน ดาวเต่า หรือ ดาวไถ ในปีที่แล้วจะเห็นดาวสว่างลดลง ประมาณครึ่งปีแล้วที่เราสังเกตเห็นความสว่างเริ่มลดลง เพราะเมื่อก่อน "ดาวบีเทลจุส" สว่างติด 10 อันดับ ตอนนี้สว่างลดลงอย่างเห็นชัดเจนจนสังเกตเห็นด้วยตาเปล่า ในอนาคตอาจระเบิดเป็น "ซูเปอร์โนวา" ต้องมาลุ้นดูจากการแปรแสงของดาว ตอนนี้นักดาราศาสตร์ทั่วโลกกำลังเฝ้าติดตามอย่างต่อเนื่อง"
ปฏิกิริยาฟิวชั่นของฮีเลียมที่รุนแรง ทำให้ดาวบีเทลจุสสูญเสียมวลไปรอบๆ ผิวดาวฤกษ์พองออก มีขนาดใหญ่เท่ากับดวงอาทิตย์ถึงวงโคจรของดาวพฤหัสบดี และเย็นตัวลง จนกลายเป็นสีแดง
แต่จะทรงพลังและคงระดับความใหญ่เท่านี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะพื้นผิวของดาวเต็มไปด้วยความปั่นป่วนของพลาสม่า ที่ร้อนและเย็นปั่นป่วนกันอย่างไม่หยุดหย่อน ทำให้ดวงนี้จึงมีความสว่างที่สามารถแปรเปลี่ยนได้ตลอดเวลา
คาดการณ์ว่า แม้ปฏิกิริยาของดาววจะยื้ออายุตัวเอง ก็ไม่น่าจะอยู่ได้นาน ยิ่งช่วงสุดท้าย ดาวจะเผาผลาญคาร์บอนไปเป็นธาตุเหล็กในแกนกลางในเวลาพันปี จากนั้นดาวก็จะพ่ายแพ้ให้แก่แรงโน้มถ่วงมหาศาลของตัวเอง บีบอัดทุกอย่างลงไปในแกนกลาง และระเบิดเป็นซูเปอร์โนวา
หรือเรียกได้ว่า ดาวบีเทลจุส ใกล้จะระเบิดแล้ว และไม่ได้มีผลโดยตรงกับโลก แต่จะเป็นโอกาสที่มนุษย์ จะได้ศึกษา ดาวฤกษ์ก่อนเกิดซูเปอร์โนวา เพื่อเรียนรู้การแปรสถานะจากดาวฤกษ์ที่ยิ่งใหญ่ แม้ปฏิกิริยาของดาววจะยื้ออายุตัวเอง ก็ไม่น่าจะอยู่ได้นาน ก่อนจะระเบิดและกลายสถานะไปเป็นอย่างอื่น
อ้างอิงข้อมูลจาก
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
Space.com
เรียบเรียงโดย มณีนาถ อ่อนพรรณา
อัปเดตเรื่องราววิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่จะทำให้คุณทันโลก ในรายการ Sci & Tech