บทความ / ILRS โครงการสำรวจดวงจันทร์ของมหาอำนาจจีนและรัสเซีย
Sci & Tech
ILRS โครงการสำรวจดวงจันทร์ของมหาอำนาจจีนและรัสเซีย
03 พ.ค. 67
503
รูปภาพในบทความ ILRS โครงการสำรวจดวงจันทร์ของมหาอำนาจจีนและรัสเซีย

โครงการ International Lunar Reserach Station (ILRS) เป็นความร่วมมือในการจัดตั้งสถานีวิจัยบนดวงจันทร์ ที่ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2021 โดยองค์การอวกาศจีน China National Space Administration (CNSA) และองค์การอวกาศรัสเซีย Roscosmos

โครงการ ILRS ถูกพูดถึงครั้งแรกในงาน Global Space Exploration Conference 2021 หรือ GLEX 2021 จัดขึ้น ณ เมืองเซนต์ ปีเตอร์ สเบิร์ก ในเดือนมิถุนายน ปี 2021 ซึ่งเป็นโครงการที่สร้างฐานบนพื้นผิวของดวงจันทร์ สำหรับการทดลองทางวิทยาศาสตร์ในระยะยาว ที่สามารถรองรับการทำงานโดยไม่ต้องมีมนุษย์ควบคุมในการสำรวจดวงจันทร์อีกด้วย โดยการก่อสร้างมีอยู่ด้วยกัน 3 เฟส ได้แก่ การสำรวจ การก่อสร้าง และการใช้ประโยชน์

โครงการของ ILRS เป็นโครงการสำรวจดวงจันทร์ระยะยาวที่มีแผนที่นำทาง (Roadmap) ชัดเจนตั้งแต่ช่วงปี 2021 ไปจนถึงปี 2035 โดยในช่วงแรกที่เป็นการสำรวจนี้เป็นช่วงระหว่างปี 2021–2025 เป็นการสานต่อภารกิจตระกูลลูนาของรัสเซีย และภารกิจตระกูลฉางเอ๋อของจีน โดยยานอวกาศในภารกิจลาดตระเวนในช่วงแรกนี้ ได้แก่ ยานตระกูลฉางเอ๋อ Chang’E-4, 5 และ 7 ของทางประเทศจีน และ ยานตระกูลลูนา Lunar-25, 26 และ 27 ของทางประเทศรัสเซีย โดยการสำรวจในช่วงนี้มีทั้งการทำแผนที่ และสำรวจทรัพยากรทางธรรมชาติเพื่อระบุตำแหน่งการสร้างฐานบนดวงจันทร์

ในช่วงถัดมาเป็นช่วงการก่อสร้าง ที่หมายถึงการก่อสร้างฐานสำหรับการสำรวจบนดวงจันทร์ ซึ่งเป็นภารกิจ ฉางเอ๋อ Chang’E-8 และ Lunar 28 ที่ทำการสำรวจร่วมกันเพื่อยืนยันความพร้อมของเทคโนโลยีในการสร้างฐานวิจัยบนดวงจันทร์ ภารกิจในช่วงนี้มีการใช้ชื่อนำหน้าว่า ILRS เต็มรูปแบบ ได้แก่ ILRS 1 ในปี 2031 ไปจนถึง ILRS 5 ในปี 2035 โดยจีนและรัสเซียก็จะมีแผนการส่งนักบินอวกาศลงบนพื้นผิวดวงจันทร์ในช่วงประมาณปี 2030

และในช่วงที่ 3 หรือช่วงของการใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งเป็นช่วงปี 2035 เป็นต้นไป เราจะได้เห็นการทำงานบนพื้นผิวดวงจันทร์อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อศึกษาวิทยาศาสตร์และอวกาศ เพื่อเตรียมตัวเดินทางต่อไปยังเป้าหมายอื่นที่ไกลออกไป

เมื่อวัน 5 เมษายน 2024 ประเทศไทยได้ร่วมเซ็นข้อตกลงความร่วมมือ International Lunar Reserach Station หรือ ILRS ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยผู้แทนรัฐบาลไทยและสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการเซ็นครั้งนี้ ทำให้ประเทศไทยมีรายชื่อเข้าร่วมโครงการ ILRS อย่างเป็นทางการ เป็นประเทศที่ 9 เพิ่มเติมจาก จีน รัสเซีย เวเนซูเอลา แอฟริกาใต้ อาเซอร์ไบจาน ปากีสถาน เบรารุส และอิยิปต์ ต่อมาได้มี ประเทศเอธิโอเปีย เคนยา ตุรเกีย และนิการากัว เข้าร่วมข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ รวมทั้งสิ้น 13 ประเทศ ตามลำดับ

พิธีลงนาม ILRS โดยผู้แทนรัฐบาลไทยและสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน.jpg

ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (National Astronomical Research Institute of Thailand; NARIT) ของประเทศไทย มีการประกาศว่าจะมีการพัฒนาอุปกรณ์วัดอนุภาคในอวกาศติดตั้งไปกับยานอวกาศฉางเอ๋อ 7 ในปี 2026 ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสที่หาได้ยาก และเป็นประโยชน์กับประเทศไทยอย่างมาก ที่โครงการ ILRS จะสร้างแรงกระตุ้นความสนใจด้านอวกาศ รวมไปถึงพัฒนาและส่งมอบองค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้กับสังคมไทย

 


ฟังรายการได้ทาง


บทความอื่นๆ
แผ่นเสียง แผ่นเสียง
กำลังออกอากาศ ไม่มีการออกอากาศ แผ่นเสียง Radio แผ่นเสียง Podcast เล่นแผ่นเสียง พักแผ่นเสียง
คลิปเสียงถัดไป