บทความ / Vega ครั้งแรกของบอลลูนที่ทะยานบนฟากฟ้าต่างดาว (เคราะห์)
Sci & Tech
Vega ครั้งแรกของบอลลูนที่ทะยานบนฟากฟ้าต่างดาว (เคราะห์)
07 ก.พ. 66
871
รูปภาพในบทความ Vega ครั้งแรกของบอลลูนที่ทะยานบนฟากฟ้าต่างดาว (เคราะห์)

แม้ว่าในปี 2021 เฮลิคอปเตอร์ Ingenuity ที่เดินทางไปยังดาวอังคารไปกับยาน Perseverance ในภารกิจ Mars 2020 จะได้บินขึ้นสู่ฟากฟ้าและกลายเป็นอากาศยานที่ทำ "First Powered Flight" หรือการบินที่ใช้แรงในการเดินทางผ่านอวกาศด้วยตัวเองบนดาวเคราะห์ดวงอื่นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ


เฮลิคอปเตอร์ Ingenuity บนดาวอังคาร ถ่ายจากยาน Perseverance

แต่เฮลิคอปเตอร์จิ๋วทรงพลังลำนี้ ไม่ได้เป็นอากาศยานลำแรกของมนุษย์ที่ได้บินขึ้นสู่ฟากฟ้าบนดาวเคราะห์ดวงอื่น ย้อนกลับไปในช่วงกลางทศวรรษที่ 1980 บอลลูนสำรวจในภารกิจ Vega เป็นอากาศยานลำแรกที่ทะยานสู่ท้องฟ้าของดาวศุกร์

โครงการ Vega (ВеГа) เป็นโครงการสำรวจดาวศุกร์และดาวหางฮัลเลย์ ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายประเทศตั้งแต่ สหภาพโซเวียต ออสเตรีย บัลกาเรีย ฝรั่งเศส โปแลนด์ เช็กโกสโลวาเกีย และเยอรมันทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก โดยชื่อของโครงการนี้ไม่ได้มีความหมายเกี่ยวข้องกับดาวฤกษ์ขนาดยักษ์ Vega ในกลุ่มดาวพิณ แต่เป็นการรวมกันของคำว่า Venera (Венера) และ Gallei (Галлей) ซึ่งหมายถึงดาวศุกร์และดาวหางฮัลเลย์ในภาษารัสเซีย

โครงการ Vega ประกอบด้วยยานสำคัญสองลำได้แก่ Vega 1 และ Vega 2 ที่มีหน้าตาเหมือนกันและถูกออกแบบให้ทำภารกิจเหมือนกัน คือการปล่อยส่วนลงจอดไปสำรวจดาวศุกร์ และบินไปสำรวจดาวหางฮัลเลย์ต่อ ซึ่งวิธีการนี้เป็นไปตามค่านิยมของการทำภารกิจสำรวจในสมัยนั้นที่มักสร้างยานคู่ขึ้นมา เผื่อในกรณีที่มีลำใดลำนึงขัดข้องหรือเสียไป เพราะการสร้างยานลำที่สองใช้งบประมาณไม่มากเท่ากับการสร้างลำแรก ซึ่งมีค่าใช้จ่ายการออกแบบและการวางโครงสร้างพื้นฐานใหม่

หน้าตาของยานลงจอด Vega ถูกถอดแบบมาจากยานลงจอดในโครงการ Venera ซึ่งเป็นโครงการสำรวจดาวศุกร์ของสหภาพโซเวียตในยุคก่อนหน้าที่ประสบความสำเร็จมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง แต่ Vega มีความแตกต่างคือยานลงจอดนั้นได้นำบอลลูนติดไปด้วย

 
บอลลูน Vega จัดแสดงนศูนย์ Udvar-Hazy ของสถาบันสมิธโซเนียน
Photo by Geoffrey A. Landis

บอลลูนของโครงการ Vega เป็นบอลลูนฮีเลียมซึ่งเบากว่าอากาศบนโลกและบนดาวศุกร์ที่มีความหนาแน่นของบรรยากาศสูงกว่าบนโลกถึงกว่า 100 เท่า และการที่ดาวศุกร์มีแรงโน้มถ่วงไม่ต่างจากโลกมากนักคือ ดาวศุกร์ 8.9  m/s² ในขณะที่ โลก 9.8  m/s² ทำให้การปล่อยบอลลูนบนดาวศุกร์นั้นเบากว่าบนโลกถึง 100 เท่า ดังนั้นบอลลูนของโครงการ Vega 1 และ 2 จึงสามารถนำอุปกรณ์สำรวจขนาดเล็กขึ้นบินไปได้สูงถึง 54 กิโลเมตรจากพื้นผิว ทั้งที่ตัวบอลลูนนั้นมีเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 3.5 เมตรเท่านั้น 

บอลลูนในโครงการ Vega นับว่ามีขนาดเล็กจิ๋วมากเมื่อเทียบกับขนาดของบอลลูนที่ต้องใช้ในการทำภารกิจที่มีขนาดใกล้เคียงกัน เช่น โครงการ Loon ของ Google ที่ต้องใช้บอลลูนเส้นผ่านศูนย์กลาง 12-15 เมตรในการพาวัตถุน้ำหนัก 10 กิโลกรัมขึ้นไปที่ความสูง 20 กิโลเมตร

ฟังเรื่องราวของ "บอลลูน Vega" ใน Starstuff เรื่องเล่าจากดวงดาว ตอน "ล่องลอยและโบยบิน"

แผ่นเสียง แผ่นเสียง
กำลังออกอากาศ ไม่มีการออกอากาศ แผ่นเสียง Radio แผ่นเสียง Podcast เล่นแผ่นเสียง พักแผ่นเสียง
คลิปเสียงถัดไป