บทความ / ความท้าทายของภารกิจอวกาศ ก่อนนำมนุษย์กลับไปดวงจันทร์อีกครั้ง
Sci & Tech
ความท้าทายของภารกิจอวกาศ ก่อนนำมนุษย์กลับไปดวงจันทร์อีกครั้ง
10 ก.ย. 65
1,091
รูปภาพในบทความ ความท้าทายของภารกิจอวกาศ ก่อนนำมนุษย์กลับไปดวงจันทร์อีกครั้ง

ยังไม่มีกำหนดที่ชัดเจนสำหรับการปล่อยจรวดครั้งถัดไป ในภารกิจอาร์ทิมิส 1 หลังจาก 2 ครั้งที่ผ่านมาพบการขัดข้องทำให้ระงับการปล่อยไปก่อน เพื่อแก้ไขปัญหาให้เรียบร้อย ถือเป็นความท้าทายของนาซาที่จะต้องทำงานอย่างรอบคอบก่อนที่จะไปถึงเป้าหมายในการกลับไปดวงจันทร์อีกครั้ง

เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 3 กันยายนตามเวลาในสหรัฐฯ ห้องควบคุมของนาซาประกาศยืนยันว่า ยกเลิกการปล่อยจรวด SLS ในภารกิจ Artemis I ในช่วงเวลา 3 ชั่วโมงก่อนการปล่อยตามกรอบเวลาที่กำหนด เป็นความพยายามครั้งที่ 2 หลังจากเลื่อนการปล่อยจรวดครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม

สาเหตุการระงับปล่อยจรวดในครั้งนี้ เกิดขึ้นเมื่อพบการรั่วไหลของเชื้อเพลิงไฮโดรเจนเหลวซึ่งเป็นเชื้อเพลิงของตัวจรวดหลัก ซึ่งอาจทำให้เชื้อเพลิงไม่เพียงพอต่อการขับดันจรวดไปถึงเป้าหมายได้ ทีมงานของนาซาพบปัญหาในระหว่างการเติมเชื้อเพลิงของจรวด เมื่อตรวจสอบปัญหา ห้องควบคุมได้ส่งสัญญาณแนะนำว่า “No go” หรือยังไม่ปล่อย จนในที่สุดเมื่อพยายามแก้ไขปัญหาตามแผนแล้วแต่ยังไม่สำเร็จจึงตัดสินใจระงับการปล่อยไว้ก่อน

ความซับซ้อนของระบบจรวด SLS เป็นหนึ่งในความท้าทายของภารกิจอาร์ทิมิส 1 ที่จะต้องควบคุมความดันและอุณหภูมิที่เหมาะสม การใช้เชื้อเพลิงเหลวที่ต้องระมัดระวังการรั่วไหลและป้องกันการระเหยออกไป จากปัญหาที่เกิดขึ้น นาซามีแผนที่จะย้ายตัวจรวดกลับไปที่อาคารประกอบอีกครั้ง เพื่อตรวจสอบและปรับปรุงตัวจรวดในจุดที่พบรอยรั่วของเชื้อเพลิง

อาคารประกอบชิ้นส่วนยานอวกาศของนาซา (Vehicle Assembly Building) ในศูนย์อวกาศเคนเนดี รัฐฟลอริดา

สถานการณ์และการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงการวางแผน รวมถึงการจัดการภารกิจอวกาศที่ถูกวางไว้อย่างเป็นระบบ เมื่อพบข้อขัดข้องจะมีการปรับปรุงเฉพาะหน้าและหากไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันกรอบเวลาการปล่อยในวันนั้น เจ้าหน้าที่จะต้องระงับภารกิจเพื่อตรวจสอบ เตรียมความพร้อม ก่อนที่จะกำหนดเวลาปล่อยครั้งถัดไป

ซึ่งกรอบเวลาการปล่อยหรือ Launch Window สำหรับภารกิจอาร์ทิมิส 1 จะต้องสอดคล้องกับการโคจรของดวงจันทร์ สภาพอากาศ การติดต่อกับเครือข่ายอวกาศห้วงลึกเพื่อสื่อสารระหว่างภารกิจ โดยช่วงเวลาที่เร็วที่สุดหลังจากนี้ คือวันที่ 19 กันยายน และมีความเป็นไปได้จนถึงเดือนตุลาคม


"We'll go when it's ready. We don't go until then and especially now on a test flight, because we're going to stress this and test it and test that heat shield and make sure it's right before we put four humans up on the top of it." - Bill Nelson


บิล เนลสัน ผู้อำนวยการของนาซาให้สัมภาษณ์หลังยกเลิกภารกิจในครั้งที่ 2 ว่าจะไม่ปล่อยจรวดจนกว่าพร้อม โดยเฉพาะเที่ยวบินทดสอบเพื่อให้แน่ใจ ก่อนที่ส่งนำมนุษย์ขึ้นไปบนนั้น

ปฏิเสธไม่ได้ว่านาซา ต้องเผชิญแรงกดดันจากกระแสการรอชมภารกิจก้าวแรกของการไปดวงจันทร์อีกครั้งในรอบ 50 ปี แต่จากโศกนาฏกรรมในภารกิจอะพอลโล 1 เมื่อปี 1967, การระเบิดของกระสวยอวกาศชาเลนเจอร์ในปี 1986 และอุบัติเหตุขณะร่อนลงสู่พื้นโลกของกระสวยอวกาศโคลอมเบียในปี 2003 ส่งผลให้นักบินอวกาศต้องจบชีวิตลง เป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้นาซาต้องวางแผนอย่างรอบคอบและมองถึงความปลอดภัย ก่อนที่จะไปถึงเป้าหมายความสำเร็จในการกลับไปเหยียบบนพื้นผิวดวงจันทร์อีกครั้ง

 

 

แผ่นเสียง แผ่นเสียง
กำลังออกอากาศ ไม่มีการออกอากาศ แผ่นเสียง Radio แผ่นเสียง Podcast เล่นแผ่นเสียง พักแผ่นเสียง
คลิปเสียงถัดไป