บทความ / จีนกับโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 และนโยบายพลังงานสะอาด
Pop Culture
จีนกับโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 และนโยบายพลังงานสะอาด
17 พ.ย. 64
2,853
รูปภาพในบทความ จีนกับโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 และนโยบายพลังงานสะอาด

         การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ได้ปิดฉากลงเมื่อวันที่ 13 พ.ย. โดยบรรลุข้อตกลงเพื่อควบคุมปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลักดันให้ยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26)  
 เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์

         “มองจีนมุมใหม่” พาคุณผู้ฟังไปเจาะลึกรายละเอียดการประกาศเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ที่ต้องการให้เป็น Green Olympic ของจีนว่ารัฐบาลสีจิ้นผิงวางแผนการพัฒนาเมืองและโครงสร้างพื้นฐานอย่างไร เพราะไม่เพียงรองรับการแข่งขันกีฬาครั้งสำคัญนี้เท่านั้น แต่ปูทางไปสู่การวางแผนเป็นผู้นำพลังงานสะอาดในอนาคตด้วย 

         ตัวแทนรัฐบาลจีนได้รับมอบคบเพลิงโอลิมปิกที่กรุงเอเธนส์ เพื่อเตรียมเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาว เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมาเรียบร้อยแล้ว คณะกรรมการจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวปักกิ่ง 2565 ได้ประกาศแผนความยั่งยืนตามวิสัยทัศน์ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง โดยให้ความสำคัญกับความยั่งยืนสามด้าน คือสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนารูปแบบใหม่ในภูมิภาคและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งผู้นำจีนก็หวังว่าจะเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาร่วมกันของปักกิ่ง เทียนจิน และเหอเป่ยด้วย

 

ตราสัญลักษณ์การแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว 2022

         โอลิมปิกฤดูหนาวปักกิ่งระหว่างวันที่ 4-20 กุมภาพันธ์ 2565 นี้ มีสโลแกนว่า “Winter Dream” หรือ ความฝันแห่งฤดูหนาว รัฐบาลจีนประกาศว่าจะเป็นมหกรรมกีฬาสีเขียวที่ให้ความสำคัญกับนโยบายพลังงานสะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โอลิมปิกที่ใช้เทคโนโลยี Carbon Dioxide Trans-Critical Direct Cooling ในการทำน้ำแข็ง ซึ่งลดการใช้พลังงานได้กว่า 40% เมื่อเทียบกับวิธีเดิม ซึ่งเป็นหนึ่งใน 119 มาตรการ ภายใต้ 12 แผนปฏิบัติการตามที่ระบุในแผนความยั่งยืน

สนามกีฬาแห่งชาติปักกิ่ง

         ความเคลื่อนไหวของจีนสอดคล้องกับแผนการ Olympic Agenda 2563 ของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC ซึ่งตั้งเป้าผลักดันให้การจัดโอลิมปิกสอดคล้องกับแผนการพัฒนาระยะยาวของแต่ละเมืองและภูมิภาค โดยปักกิ่งจะเป็นเมืองแรกที่ถูกใช้เป็นสถานที่จัดการแข่งขันทั้งโอลิมปิกฤดูร้อนและฤดูหนาว มีสถานที่จัดแข่งขันใหญ่ 3 แห่ง สถานที่แรกคือใจกลางเมืองก็จะดัดแปลงและปรับปรุงสนามกีฬาเดิม 5 แห่งตอนแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน รวมทั้งบ้านพักนักกีฬา พื้นที่แห่งที่สองคือ “เหยียนชิ่ง” อยู่ชานเมืองทางตะวันตกเฉียงเหนือ ห่างจากกรุงปักกิ่งไปประมาณ 70 กิโลเมตร พื้นที่แห่งที่สามอยู่ห่างออกไปอีกประมาณ 100 กม. ในเมืองจางเจียโข่ว มณฑลเหอเป่ย จะมีการสนามแข่งขันสกีและสร้างเมืองใหม่รองรับการแข่งขันรวมทั้งโครงสร้าง พื้นฐาน การเดินทาง ขนส่งและอื่น ๆ ด้วย สนามแข่งขันจำนวน 26 แห่ง ก็จะใช้พลังงานสะอาดทั้งหมด

         รัฐบาลจีนวางยุทธศาสตร์จะพัฒนาเมืองจางเจียโข่วให้กลายเป็นแหล่งศูนย์กลางลงทุนเรื่องพลังงานสะอาด เป็นเมืองสีเขียว ซึ่งไม่เพียงผลิตพลังงานสะอาดใช้ภายในพื้นที่ แต่จะป้อนให้กรุงปักกิ่งด้วย โดยมีเป้าหมายจะผลิตให้ได้ในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 10 % ของการใช้พลังงานสะอาดในอนาคต

         ประเทศจีนมีสัดส่วนการใช้พลังงานจากฟอสซิลสูงมากถึงประมาณร้อยละ 60 พลังงานน้ำมีสัดส่วนร้อยละ 20 พลังงานลม แสงอาทิตย์และอื่น ๆ เช่น นิวเคลียร์รวมประมาณร้อยละ 10 ในอนาคตจีนตั้งเป้าหมายต้องการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดให้มากขึ้นโดยคาดว่าภายใน 10 ปีจะลดการใช้พลังงานจากฟอสซิลลงกว่าร้อยละ 50

         ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีนกล่าวว่า เดิมจีนเป็นชาติที่ใช้พลังงานมากเพราะต้องผลิตสินค้าไปป้อนให้กับตลาดโลก เป็นมาตั้งแต่หลังสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้พลังงานจากฟอสซิลของชาติฝั่งตะวันตกและสหภาพยุโรป รวมทั้งญี่ปุ่น ชาติตะวันตกจะได้เปรียบกว่าจีนเพราะไม่ได้เป็นฐานการผลิตสินค้า การตั้งเป้าหมายลดการใช้พลังงานที่จะหลายชาติกำหนดเป้าหมายไว้ปี ค.ศ. 2050 แต่จีนกำหนดไว้ที่ ค.ศ. 2060 นานาชาติพยายามขอให้จีนตั้งเป้าเร็วขึ้นจากเดิม แต่ยังไม่มีการยืนยันตอบรับจากจีนในเวลานี้

แผงโซล่า

            อย่างไรก็ตามในช่วง 10-20 ปีหลัง เทคโนโลยีด้านต่าง ๆ พัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลจีนให้ความสำคัญและออกหลายมาตรการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ รวมทั้งประกาศเดินหน้าเรื่องพลังงานสะอาด ก็น่าจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในจีนได้เร็วขึ้น ตัวอย่างเช่นการให้นโยบายว่าหน่วยงานของราชการมีเป้าหมายต้องติดแผงโซล่าให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ส่วนที่ไม่ใช่หน่วยงานรัฐโดยตรง ต้องมีแหล่งผลิตพลังงานสะอาดใช้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 และยังขอความร่วมมือเอกชนต้องใช้พลังงานสะอาดไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 เป็นต้น

            ดร.ไพจิตร กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่าจีนเป็นประเทศที่ผลิตโซล่าเซลส์มากเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก แต่เคยมีปัญหาการถูกจำกัดการส่งออกไปยังสหรัฐและยุโรป เมื่อรัฐบาลพลิกกลับมาทำตลาดภายในประเทศ ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด จึงทำให้ธุรกิจเกี่ยวกับเรื่องนี้กลายเป็นอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตที่โดดเด่นไปโดยปริยาย อีกทั้งยังมีการส่งเสริมให้ใช้พื้นที่ทางตะวันตกของจีน แถบซิงไห่ กานซู่ ซินเจียง ซึ่งเป็นทะเลทรายแห้งแล้ง เป็นเทือกเขาสูง เพาะปลูกพืชผลการเกษตรได้ไม่ดี รัฐบาลก็เปลี่ยนนโยบาย ในเมื่อเพาะปลูกพืชเป็นอาหารเลี้ยงคนไม่ได้ ก็ทำแหล่งผลิตพลังงานทดแทน รวมทั้งยังส่งเสริมงานวิจัยเพื่อหาทางใช้พลังงานฟอสซิลที่จะไม่เพิ่มภาวะมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม

“จีนใช้ถ่านหินมากติดอันดับ 1 ใน 3 ของโลก ในเมื่อรัฐบาลจีนต้องการเน้นพลังงานสะอาด เขาก็พยายามส่งเสริมการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ผมเคยไปดูงานในห้องทดลองของจีนที่กำลังค้นคว้าการสกัดสารบางอย่างจากถ่านหินเพื่อเอาไปใช้กับเครื่องยนต์ ทำให้สามารถเดินเครื่องได้ตลอด 24 ชม. ผลงานนี้กำลังอยู่ระหว่างการทดลองวิจัย ถ้าสำเร็จก็อาจจะเป็นทางเลือกของพลังงานที่ทำให้เกิดมลพิษน้อยลงก็เป็นได้”

         

         ต้องจับตาการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวของจีนในปี 2565 นี้ว่าจะมีความน่าสนใจเพียงใด เพราะไม่เพียงเป็น Green Olympic แต่จีนจะถือโอกาสการทดลองใช้และเปิดตัว “หยวนดิจิทัล” รวมทั้งการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในงานนี้ด้วย   

 

ฟังรายการ มองจีนมุมใหม่ ฉบับเต็ม ทาง Thai PBS Podcast

คลิก >> Website | Spotify | Apple Podcast | Google Podcast

หรือฟังทาง Application | Thai PBS Podcast 

สแกน QR Code ดาวน์โหลดได้ที่นี่

 

เรียบเรียง : โสภิต หวังวิวัฒนา

 

บทความอื่นๆ
แผ่นเสียง แผ่นเสียง
กำลังออกอากาศ ไม่มีการออกอากาศ แผ่นเสียง Radio แผ่นเสียง Podcast เล่นแผ่นเสียง พักแผ่นเสียง
คลิปเสียงถัดไป