บทความ / ยุงลายกับไข้เลือดออก
Health
ยุงลายกับไข้เลือดออก
20 ส.ค. 63
9,924
รูปภาพในบทความ ยุงลายกับไข้เลือดออก

ในแต่ละปี ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับปัญหาสาธารณสุขที่ส่งผลให้พบผู้ป่วยหลักหมื่นคน และผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่ง นั้นคือโรคไข้เลือดออก ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรค เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งชุกชุมของยุงนั้นคือ ที่ตั้ง ภูมิประเทศและสภาพอากาศร้อนชื้น เหมาะสำหรับการอยู่อาศัยและดำรงชีวิต จึงทำให้ปัญหาโรคไข้เลือดออก กลายเป็นโรคประจำท้องถิ่นที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี แต่จะมีการระบาดและชุกชุมมากที่สุดในช่วงฤดูฝน โดยโรคนี้พบการระบาดครั้งแรกในประเทศไทยที่กรุงเทพมหานครเมื่อปี 2501 หลังจากการระบาดที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อปี 2496 - 2497

โรคไข้เลือดออก

- โรคไข้เลือดออก เกิดจากยุงลายเป็นพาหะนำโรคที่มีเชื้อไวรัสเดงกี ซึ่งแบ่งเชื้อเป็น 4 ซีโรไทป์ คือ DENV-1, DENV-2, DENV-3 และ DENV-4

- ยุงที่มีเชื้อเมื่อไปกัดคน เชื้อจะฟักตัวในร่างกายประมาณ 5 - 8 วัน ก่อนจะแสดงอาการของโรค

- คนส่วนใหญ่ที่ถูงยุงมีเชื้อไวรัสกัดจะไม่ป่วย แต่จะมีเพียง 1 ใน 4 คนเท่านั้นที่จะป่วยไข้เลือดออก

- ในกรณีที่ป่วยเป็นไข้เลือดออกซ้ำ เชื้อไวรัสจะเป็นคนละซีโรไทป์กับครั้งก่อนหน้าที่ป่วย

- ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นคนที่อยู่บ้านคือ เด็ก ผู้สูงวัย และคนที่ชอบนอนตอนกลางวัน

- ระยะไข้ (Febrile phase) ผู้ป่วยทุกรายจะมีไข้สูงเฉียบพลัน เกิน 38.5 องศาเซลเซียส ซึ่งอาจสูงถึง 40 - 41 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นไข้สูงลอย 2 - 7 วัน โดยไม่มีน้ำมูกไหลหรือไอ แต่จะพบอาการเบื่ออาหาร อาเจียน หรือมีอาการปวดท้อง และอาจปวดชายโครงขวาในระยะที่มีตับโต มีอาการเลือดออกที่ผิวหนังเป็นจุดเล็ก ๆ ที่แขน ขา ลำตัว รักแร้ อาจมีเลือดกำเดาไหลหรือเลือดออกตามไรฟัน

- ระยะวิกฤต (Critical phase) เป็นระยะอันตรายมากที่สุด ไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว มีอาการซึม ตัวเย็น เสี่ยงต่อภาวะหมดสติและเสียชีวิต ในระยะนี้จะเกิดภาวะช็อก โดยก่อนการช็อกจะมีอาการ เบื่ออาหารมากขึ้น ไม่รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำเลย หรือมีอาการถ่ายปัสสาวะน้อยลง มีอาการปวดท้องอย่างกะทันหัน กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น แนะนำให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันทีที่มีอาการเหล่านี้

- ระยะฟื้นตัว (Recovery or convalescent phase) ในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการช็อก เมื่อไข้ลดส่วนใหญ่จะดีขึ้น ฟื้นตัวเร็ว ความดันโลหิตปกติ ปัสสาวะเพิ่มขึ้น อยากรับประทานอาหาร

- ปัจจุบัน ประเทศไทยอยู่ในระหว่างการศึกษา วิจัยและพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออก ทั้งกระทรวงสาธารณสุขและมหาวิทยาลัยด้านการแพทย์ชั้นนำของประเทศ

 

การดูแลรักษาผู้ป่วย

- ในระยะที่มีไข้สูง ให้ผู้ป่วยกินยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้ ห้ามกินยาแอสไพริน เพราะจะทำให้เกล็ดเลือดเสียการทำงาน ระคายกระเพาะอาหาร เลือดออกได้ง่ายขึ้น

- การกินยาลดไข้ ควรกินเมื่อมีไข้สูงเกิน 39 องศาเซลเซียส แต่หากอุณหภูมิต่ำกว่าให้เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดา 

- รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย

- ให้ดื่มนม น้ำผลไม้ หรือน้ำเกลือแร่แทนน้ำเปล่า แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยอาเจียนมาก ให้จิบน้ำเกลือแร่บ่อย ๆ 

- ติดตามใกล้ชิดผู้ป่วยตลอดเวลา

- หากสังเกตเห็นอาการผู้ป่วย คือ มีอาการเบื่ออาหารมากขึ้น ไม่รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำเลย หรือมีอาการถ่ายปัสสาวะน้อยลง มีอาการปวดท้องอย่างกะทันหัน กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น แนะนำให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที เนื่องจากเป็นอาการนำก่อนการช็อก

 

มาทำความรู้จัก... ยุงลาย

- ยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกมี 2 ชนิด (จากจำนวนยุงลายมากกว่า 100 ชนิด) คือ ยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) และ ยุงลายสวน (Aedes albopictus)

- ยุงลายทั้งเพศผู้และเมียจะกินน้ำหวานเป็นอาหาร แต่ยุงลายเพศผู้จะไม่กินเลือดคน ส่วนยุงลายเพศเมียจะกินเลือดคนเพื่อใช้เป็นพลังงานในการวางไข่

- เมื่อยุงลายกินเลือดคนที่มีเชื้อไวรัสไข้เลือดออก เชื้อจะเข้าไปอยู่ในเซลล์ที่ผนังกระเพาะของยุง เมื่อเชื้อเพิ่มมากขึ้นจะเดินทางไปสู่ต่อมน้ำลายของยุง โดยเชื้อจะฟักตัวในยุง 8 - 10 วัน เมื่อยุงไปกินเลือดอีกคน ก็สามารถแพร่กระจายเชื้อไวรัสได้ต่อไป

- ลักษณะของยุงลาย สังเกตได้ง่ายคือ มีลายสีขาวสลับสีดำ ตัวเล็กกว่ายุงทั่วไป มีความสามารถในการกัดที่เบา นิ่ม ไม่เจ็บ หรือไม่รู้สึกถึงการโดนกัดเลย

- รอบการกัดของยุงลายตัวเมียจะอยู่ที่ 3 - 4 วันต่อการกัด 1 ครั้ง แต่หากยุงตัวนั้นกินยังไม่เต็มที่ ก็จะสามารถกัดจนกว่าจะอิ่มจึงจะเว้นการกัดออกไป

- เมื่อยุงกัดคนกินเลือดคนจนอิ่มและมีชีวิตรอดจากฝ่ามือของเรา ประมาณ 2 - 3 วัน จึงจะวางไข่

- การวางไข่ของยุงลาย จะเลือกวางในน้ำสะอาดเท่านั้น โดยน้ำจะต้องนิ่งสงบ ไม่ใช่น้ำไหล และอยู่ในที่มืด โดยไข่จะฟักตัวเป็นลูกน้ำภายใน 2 วัน

- ไข่ยุงที่ติดอยู่กับขอบผิวของภาชนะมีความทนต่อความแห้งแล้งได้เป็นเวลานานถึง 1 ปี จนกว่าจะมีน้ำ ความชื้นและอุณหภูมิที่เหมาะสม ก็จะฟักตัวเป็นยุงได้ภายใน 9 - 12 วัน

- ยุงลาย เป็นยุงที่ไม่ชอบลมแรงและแสงสว่าง แต่จะหากินในตอนกลางวันเท่านั้น มีการศึกษาพบว่า ช่วงเวลาที่ยุงลายออกหากินคือ 08.00 - 17.00 น. โดยสถานที่ที่ยุงชอบจะต้องมืด มีแสงน้อย อับชื้น

- ยุงลายมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 2 เดือน และมีรัศมีในการบินไม่เกิน 50 เมตร นั้นหมายความว่า หากมียุงลายที่มีเชื้อไวรัส บ้านที่มีคนอยู่ในระยะ 50 เมตร มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและเป็นโรคไข้เลือดออกได้

- คนที่อาศัยอยู่บนคอนโดมิเนียม หรือตึกสูง ๆ จะไม่ค่อยพบกับยุงลาย เพราะยุงบินได้ไม่สูงมากนัก แต่บางครั้งจะสังเกตเห็นยุงลายอยู่บ้าง นั้นเพราะ ยุงลายสามารถปรับตัวได้ทุกสถานการณ์และสภาพแวดล้อม โดยจะเกาะติดไปกับสิ่งของ เสื้อผ้าของมนุษย์ หรือบินเข้าไปอยู่ในลิฟท์ แล้วขึ้นไปยังชั้นสูง ๆ ของตึกได้

- ในระหว่างการกัดคนเพื่อกินเลือด ยุงลายจะปล่อยน้ำลายยุงออกมา เพื่อป้องกันการแข็งตัวของเลือด ซึ่งน้ำลายยุงเป็นแหล่งของเชื้อไข้เลือดออกที่สามารถติดสู่คนได้ นอกจากนี้ยังปล่อยฮอร์โมน โปรตีนและเอนไซม์ เพื่อช่วยให้ยุงดูดเลือดได้ง่ายขึ้น แต่นั้นจะทำให้บางคนเกิดอาการแพ้ยุง ซึ่งมีการเกิดตุ่มและมีอาการคัน

- นอกจากเลือดมนุษย์ที่เป็นอาหารอันโอชะของยุงลายตัวเมียแล้ว เลือดของสัตว์เลี้ยงยุงก็สามารถกัดกินเลือดได้โดยที่สัตว์เลี้ยงจะไม่เป็นไข้เลือดออก แต่จะเป็นโรคอื่นได้ เช่น  โรคพยาธิหนอนหัวใจ, โรคไข้เวสต์ไนล์, โรคแพ้ยุง, โรคทูลารีเมีย และโรคภูมิแพ้ตัวเอง

 

ป้องกันยุงและโรคไข้เลือดออกอย่างไร

- ต้องไม่ให้ถูกยุงกัด

- กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง

- ใช้ทรายอะเบตกำจัดลูกน้ำยุงลาย

- บ้านควรติดมุ้งลวด หรือนอนในมุ้ง

- เลี่ยงการอยู่ในที่มืดหรือมุมอับ

- ทายากันยุง (ในกรณีที่จำเป็น)

- เลี่ยงการสวมเสื้อผ้าสีเข้มหรือรัดรูป

- รักษาและทำความสะอาดร่างกาย เพื่อลดการดึงดูดยุงจากกลิ่นตัว

ข้อมูลโดย: ศ.นสพ.ดร.สถาพร จิตตปาลพงศ์ | คณบดีคณะเทคนิคการสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

ฟัง Podcast

Website | https://bit.ly/2D7ZTQz

Spotify | https://spoti.fi/2XetluU

Soundcloud | https://bit.ly/3hWXirm

Application | Thai PBS Podcast >> สแกน QR Code ที่นี่

แผ่นเสียง แผ่นเสียง
กำลังออกอากาศ ไม่มีการออกอากาศ แผ่นเสียง Radio แผ่นเสียง Podcast เล่นแผ่นเสียง พักแผ่นเสียง
คลิปเสียงถัดไป