บทความ / การทำงานของนักดาราศาสตร์ยุคสร้างชาติ
Sci & Tech
การทำงานของนักดาราศาสตร์ยุคสร้างชาติ
12 ก.ค. 67
352
รูปภาพในบทความ การทำงานของนักดาราศาสตร์ยุคสร้างชาติ

ในช่วงหลังยุคกลางที่การศึกษาทางวิทยาศาสตร์เริ่มเติบโตมากขึ้น มีนักดาราศาสตร์หลายคนได้สร้างทฤษฎี กฎ และการค้นพบที่เป็นรากฐานของงานด้านการสำรวจอวกาศในปัจจุบัน ซึ่งก็คงคุ้นเคยกับชื่อของนักดาราศาสตร์เหล่านี้หลายคน เช่น กาลิเลโอ กาลิเลอิ (Galileo Galilei) ผู้มีผลงานการค้นพบมากมาย โยฮันเนส เคปเลอร์ (Johannes Kepler) ผู้ค้นพบกฏการเคลื่อนที่ของเคปเลอร์ หรือเอ็ดมอนด์ ฮัลเลย์ (Edmond Halley) ผู้เป็นที่มาของชื่อดาวหางฮัลเลย์

เอ็ดมุนด์ ฮัลเลย์ โดย ริชาร์ด ฟิลิปส์ (Richard Phillips)

ถัดมาอีกหลายร้อยปีที่งานด้านดาราศาสตร์เติบโตขึ้นอย่างมหาศาล เรามักจะได้ยินชื่อของนักดาราศาสตร์สมัยใหม่อีกหลายคนที่มีบทบาทในการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญหลายชิ้น เช่น เอ็ดวิน ฮับเบิล (Edwin Hubble) ผู้พิสูจน์การขยายตัวของจักรวาล และที่มาของชื่อกล้องโทรทัศน์อวกาศฮับเบิล สตีเฟน ฮอว์กิ้ง (Stephen Hawking) นักฟิสิกส์ทฤษฎีผู้โด่งดัง ไคลด์ ทอมบอ (Clyde Tombough) ผู้ค้นพบดาวพลูโต หรือคาร์ล เซแกน (Carl Sagan) นักวิทยาศาสตร์ผู้เป็นหนึ่งในปูชนียบุคคลของการสื่อสารวิทยาศาสตร์

เมื่อเรามองลึกลงไปในประวัติของแต่ละคนและความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน เราอาจได้เจอข้อสังเกตข้อหนึ่งที่น่าสนใจจากฝั่งภูมิศาสตร์ เมื่อกาลิเลโอ เคปเลอร์ และฮัลเลย์ มาจากอิตาลี เยอรมัน และอังกฤษตามลำดับ ซึ่งล้วนอยู่ในทวีปยุโรป ในขณะที่ฮอว์กิ้งเป็นคนอังกฤษ แต่ ฮับเบิล ทอมบอ และเซแกนเป็นคนอเมริกา โดยนำมาซึ่งคำถามหนึ่งที่น่าสนใจคือประเทศอเมริกาได้เริ่มมามีบทบาทในงานสำรวจอวกาศตั้งแต่เมื่อไหร่

เอ็ดวิน ฮับเบิล - ที่มา Johan Hagemeyer

เมื่อมองย้อนกลับไป ถึงแม้รากฐานของวิชาดาราศาสตร์จะเกิดขึ้นในทวีปอเมริกา ตั้งแต่การประกาศพื้นที่เป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักร จากการส่งต่อวัฒนธรรมและชุดความรู้จากฝั่งทวีปยุโรป ซึ่งก็อาจมองได้ว่าตั้งแต่ช่วงเวลานั้น การประกาศอิสรภาพของประเทศอเมริกาในค.ศ. 1776 ไปจนถึงช่วงเวลาประมาณศตวรรษหลังจากนั้น ประเทศสหรัฐฯ ก็ไม่ได้มีบทบาทหรือชื่อเสียงที่สำคัญในวงการดาราศาสตร์ในระดับเวทีโลกสักเท่าไหร่

หลายทัศนะได้มองว่าจุดที่กระตุ้นให้สาขาวิชาเติบโตขึ้นอย่างมหาศาลในพื้นที่ดังกล่าว เกิดขึ้นในช่วงที่สหรัฐฯ ขยายดินแดนสู่ทิศตะวันตก โดยมีปัจจัยและบริบททางภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ และสังคมที่เหมาะสมเป็นตัวกระตุ้น

หากพิจารณาโดยคร่าวแล้ว ด้านตะวันตกของสหรัฐอเมริกาเป็นดินแดนที่มีภูมิศาสตร์เป็นภูเขาค่อนข้างมาก ซึ่งแตกต่างจากพื้นที่ด้านตะวันออกที่มีความราบเรียบมากกว่า โดยส่งผลทางบวกในการตั้งหอดูดาว ที่การสังเกตการณ์ท้องฟ้าบนที่สูงมีโอกาสถูกรบกวนโดยปัจจัยต่าง ๆ ทั้งจากธรรมชาติและโดยมนุษย์น้อยกว่า ในขณะที่การเติบโตของสังคมในพื้นที่ตะวันตกก็ได้นำมาซึ่งการตั้งมหาวิทยาลัยอันเป็นทั้งสถานศึกษาและวิจัยที่สำคัญ

แผนที่ทางภูมิศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา

ปัจจัยด้านภูมิศาสตร์และสังคมที่เกี่ยวเนื่องกันได้นำไปสู่วัฒนธรรมการศึกษาดาราศาสตร์ที่แข็งแรงกว่าด้านตะวันออกของสหรัฐฯ และที่ยิ่งไปกว่านั้น หมู่ชนชั้นสูงในฝั่งตะวันตกในช่วงเวลาดังกล่าวยังได้มีวัฒนธรรมการส่งเสริมงานวิทยาศาสตร์ ที่แหล่งทุนและอิทธิพลของชนกลุ่มนี้ยิ่งได้ทำให้งานดาราศาสตร์เติบโตขึ้นไปอีก

ชนชั้นสูงฝั่งตะวันตกหลายคนได้สนับสนุนเงินทุนให้กับมหาวิทยาลัย รวมถึงได้สร้างสถานวิจัยที่สำคัญอย่างหอดูดาวอีกหลายแห่ง เช่นหอดูดาวลิก (Lick Observatory) ในซานโฮเซ แคลิฟอร์เนีย ที่ออกเงินทุนสร้าง โดยมหาเศรษฐีเจมส์ ลิก (James Lick) หอดูดาวโลเวลล์ในแอริซอนา โดยเพอร์ซิวัล โลเวลล์ (Percival Lowell) ที่เป็นสถานที่ที่ไคลด์ ทอมบอทำงานอยู่ตอนค้นพบการมีอยู่ของดาวพลูโต หรือหอดูดาวกริฟฟิท ณ ลอสแองเจลิส ที่กริฟฟิท เจ. กริฟฟิท นักธุรกิจเหมืองและอสังหาริมทรัพย์ได้บริจาคทุนการสร้างให้กับเมือง

หอดูดาวลิก (Lick Observatory) - ที่มา http://SPACETH.CO

เหตุผลหลากแง่มุมที่เชื่อมโยงกันนี้เองที่ได้เริ่มทำให้งานด้านอวกาศของสหรัฐฯ แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นจนได้กลายมาเป็นหนึ่งในผู้นำของวงการในปัจจุบัน ร่วมสืบเสาะจุดเริ่มต้นของการทำงานทางดาราศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ยุคสร้างชาติ การย้ายถิ่นฐานสู่ดินแดนฟากตะวันตกในยุคตื่นทอง และการสร้างหอดูดาวแห่งแรกของประเทศ สารตั้งต้นของการขึ้นสู่ประเทศทรงอิทธิพลในวงการสำรวจอวกาศของโลกได้ใน Stastuff เรื่องเล่าจากดวงดาว ตอน 103 เมื่อชาวอเมริกันเริ่มดูดาว

 


ฟังรายการได้ทาง


 

แผ่นเสียง แผ่นเสียง
กำลังออกอากาศ ไม่มีการออกอากาศ แผ่นเสียง Radio แผ่นเสียง Podcast เล่นแผ่นเสียง พักแผ่นเสียง
คลิปเสียงถัดไป