บทความ / อาหารจากธรรมชาติช่วยดีท็อกโลหะหนักในร่างกาย
Health
อาหารจากธรรมชาติช่วยดีท็อกโลหะหนักในร่างกาย
21 มิ.ย. 67
639
รูปภาพในบทความ อาหารจากธรรมชาติช่วยดีท็อกโลหะหนักในร่างกาย

โลหะหนัก คือ กลุ่มของแร่ธาตุที่มีน้ำหนักโมเลกุลมาก เช่น ปรอท ตะกั่ว แคดเมียม [1] สารหนู ฯลฯ สารเหล่านี้หากตกค้างในร่างกายจะส่งผลให้เกิดความเป็นพิษใน 2 รูปแบบ คือ

  1. ชนิดพิษเฉียบพลัน ซึ่งเกิดจากการได้รับสารในปริมาณมาก ร่างกายจะแสดงอาการในทันที เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ปวดหัว มีผื่นแพ้ขึ้นตามร่างกาย ฯลฯ และมีโอกาสเสียชีวิต

  2. ชนิดพิษเรื้อรั้ง เกิดจากการสั่งสมสารพิษเป็นเวลานาน จัดเป็นภัยเงียบหรือตายผ่อนส่งอีกรูปแบบหนึ่ง

โลหะหนักมักปนเปื้อนอยู่ในภาชนะต่าง ๆ รวมถึงอาหารที่รับประทานเข้าไปทั้งพืชและสัตว์ เช่น เครื่องครัว ปลาทะเล ข้าวสาร น้ำมันตับปลา เครื่องสำอาง ฯลฯ แต่ร่างกายมีกระบวนการในการกำจัดสารพิษเหล่านี้ โดยในเซลล์ลำไส้และเซลล์ตับ ซึ่งทำหน้าที่กำจัดสารพิษ (ดีท็อกซิฟิเคชัน (Detoxification)) 2 กระบวนการคือ

เฟสวัน (Phase 1) คือ การเข้าไปสลายสารพิษ
เฟสทู (Phase 2) คือ การทำให้สารพิษละลายน้ำ แล้วขับออกทางปัสสาวะหรืออุจจาระ

แต่การกำจัดสารพิษในแต่ละคนแตกต่างกัน ขึ้นกับอายุ วัย และประสิทธิภาพการทำงานของร่างกาย สารอาหารจากธรรมชาติจึงเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการลดหรือล้างความเป็นพิษจากโลหะหนักได้ ดังนี้

  1. เพกทิน (Pectin) เป็นใยอาหารที่ละลายน้ำได้ พบมากในแอปเปิล กล้วย และกะหล่ำปลี

  2. คลอโรฟิลล์ (Chlorophyll) พบมากในผักใบเขียว ต้นอ่อนทานตะวัน

  3. อัลฟาไลโปอิก แอซิด (Alpha Lipoic Acid) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) พบมากในผักปวยเล้ง (ผักชนิดนี้ไม่แนะนำให้กินแบบสด เพราะมีสารบางชนิดที่ทำให้เสี่ยงเป็นนิ่วได้ ต้องผ่านความร้อนเสียก่อน) กระเจี้ยบเขียว บลอกโคลี กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก คะน้า ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างกลูต้าไธโอน (Glutathione) [2] ได้เพิ่มขึ้น

  4. อัลลิซิน (Allicin) ที่อยู่ในกระเทียม [3] ช่วยขับล้างพิษปรอท ตะกั่ว แคดเมียม โดยกำมะถัน (ซัลเฟอร์ (Sulfur)) ที่มีอยู่ในกระเทียม เป็นตัวช่วยในการสังเคราะห์กลูต้าไธโอนในร่างกายให้ไปกำจัดสารพิษ

  5. จินเจอรอล (Gingerol) พบมากในขิง

  6. เคอร์คิวมิน (Curcumin) พบมากในขมิ้นชัน

  7. โพรไบโอติกส์ (Probiotics) เป็นจุลินทรีย์ขนาดเล็ก ซึ่งจัดเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ชนิดดี พบได้ในอาหาร เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต กิมจิ มิโสะ

สำหรับปริมาณการกินผัก ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในหนึ่งวันควรกินให้ได้อย่างน้อย 400 กรัม (5 กำมือหรือ 6 ทัพพี) หากกินไม่ถึงสามารถเสริมเติมด้วยผลไม้ เช่น ฝรั่ง ชมพู่ แอปเปิล กล้วย แก้วมังกร มะละกอ สับปะรด แตงโม ฯลฯ โดยให้เลี่ยงหรือเว้นผลไม้รสหวาน อร่อยก็จริงแต่เสี่ยงน้ำตาลในเลือดสูง และยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคในกลุ่ม NCDs [4] อีกด้วย

----------------------------------------------------------

[1] หากได้รับสารแคดเดียม ร่างกายต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 20 ปีในการกำจัดออก โดยกำจัดได้เพียงครึ่งหนึ่งที่ร่างกายได้รับเท่านั้น หากต้องการกำจัดออกให้หมด ต้องใช้เวลาที่ยาวนานกว่านั้นขึ้นไปอีก
[2] หน้าที่หลักของกลูต้าไธโอน คือ ช่วยกำจัดสารพิษ โดยทำให้สารพิษละลายน้ำแล้วถูกขับออกทางปัสสาวะ ส่วนการทำให้ผิวกระจ่างใสเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น
[3] คนที่กินยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน (Warfarin) หากกินกระเทียมในปริมาณมาก จะทำให้เลือดหยุดไหลได้ยากขึ้น
[4] โรค NCDs (non-communicable diseases) เป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็นโรคไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคและไม่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ แต่เกิดจากนิสัยหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิต โดยจะเป็นอย่างช้า ๆ ค่อย ๆ สะสมอาการอย่างต่อเนื่อง เมื่อมีอาการของโรคก็มักจะเกิดการเรื้อรังด้วย เช่น โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคระบบทางเดินหายใจ โรคไต โรคตับ โรคสมองเสื่อม โรคอ้วนลงพุง รวมถึงโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ


ข้อมูลโดย

  • ผศ. ดร.เอกราช บำรุงพืช | ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ วิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยธรุกิจบัณฑิตย์

  • Bumrungrad International Hospital | Bangkok Thailand

เรียบเรียงโดย เชาว์วรรธณ์ พยัฆพันธ์


 

 

ฟังรายการได้ทาง


แผ่นเสียง แผ่นเสียง
กำลังออกอากาศ ไม่มีการออกอากาศ แผ่นเสียง Radio แผ่นเสียง Podcast เล่นแผ่นเสียง พักแผ่นเสียง
คลิปเสียงถัดไป