บทความ / ส่งปลาไปอวกาศครั้งแรก
Sci & Tech
ส่งปลาไปอวกาศครั้งแรก
10 พ.ค. 67
630
รูปภาพในบทความ ส่งปลาไปอวกาศครั้งแรก

ในอดีตที่ผ่านมา หน่วยงานอวกาศมักชอบส่งสัตว์ทดลองขึ้นสู่อวกาศ เพื่อใช้เป็นหนูทดลองหรือเพื่อใช้ในการวิจัยบางอย่าง เช่นในยุคเริ่มต้นของการสำรวจอวกาศ โซเวียตที่ได้ส่งสุนัขชื่อ “ไลก้า” ขึ้นสู่วงโคจรเพื่อทดสอบความเป็นไปของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในวงโคจร ในขณะที่สหรัฐฯ ได้ส่งลิงหลายต่อหลายตัวไปทดสอบประสิทธิภาพการตอบสนองและการทำงานในอวกาศ

ชิมแปนซี “แฮม” ที่สหรัฐฯ ส่งขึ้นอวกาศในภารกิจเมอร์คิวรี-เรดสโตน 2 ในปี 1961

แต่มีสัตว์ประเภทหนึ่งที่หลายคนอาจไม่รู้ว่าเคยถูกส่งไปยังอวกาศก็คือ ปลา ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าสัตว์ที่เรารู้ว่าเคยถูกส่งขึ้นอวกาศมักเป็นสัตว์บก ในขณะที่ปลาเป็นสัตว์น้ำที่เชื่อได้ว่าการเตรียมสภาวะที่เหมาะสมให้มันไปอยู่บนอวกาศได้น่าจะเป็นเรื่องยุ่งยากวุ่นวายไม่น้อย

คำถามที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ สภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำในอวกาศจะทำให้มนุษย์ที่เป็นสัตว์ที่เคลื่อนไหวในสองมิติบนโลก (ไม่ได้ขึ้นลงได้อย่างอิสระในแนวบนล่าง จากการที่มีแรงโน้มถ่วงยึด) เกิดอาการเสียสมดุล ส่งผลให้คลื่นไส้หรือรู้สึกเหมือนเมาเรือ ก่อนที่จะสามารถปรับตัวเข้ากับสภาวะได้ แต่ในกรณีของสัตว์น้ำดังเช่นปลา ที่สามารถเคลื่อนที่ในแนวบนล่างได้อย่างอิสระกว่ามนุษย์แล้ว จะมีพฤติกรรมเป็นอย่างไร

คำถามนี้ได้ถูกเฉลยในภารกิจสกายแล็บ 3 (Skylab 3) ในปี 1973 เมื่อนาซาได้ส่งปลามัมมิช็อค 2 ตัวขึ้นสู่สถานีอวกาศสกายแล็บ เพื่อสังเกตพฤติกรรมและการปรับตัวของปลา โดยข้อมูลได้แสดงให้เห็นว่าในช่วงวันแรกที่ปลามัมมิช็อคทั้ง 2 อาศัยอยู่บนสถานีอวกาศสกายแล็บ พวกมันได้เกิดอาการ "หลงทิศ" และว่ายน้ำหมุนเป็นวงกลม ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เรียกว่า "Looping behavior"

สถานีอวกาศสกายแล็บ

นั่นเป็นเพราะว่าถึงแม้ปลาสามารถเคลื่อนที่ในทิศบนล่างในน้ำได้ แต่มันก็ยังใช้แรงโน้มถ่วงในการบอกทิศทางอยู่ดี (ด้านบนคือออกจากแรงโน้มถ่วง ในขณะที่ด้านล่างคือเข้าหาแรงโน้มถ่วง) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการว่ายน้ำของปลาบนโลก แต่ในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำที่ปลาไม่สามารถรับรู้ทิศบนล่างจากแรงโน้มถ่วงได้ มันจึงเกิดอากาศหลงทิศนั่นเอง

ปลามัมมิช็อค 2 ตัวบนสถานีอวกาศสกายแล็บ

แต่หลังจากที่พวกมันอยู่บนอวกาศไปได้สักพัก พวกมันก็เริ่มสามารถปรับตัวได้เช่นเดียวกับคนและสิ่งมีชีวิตประเภทอื่น ๆ บนอวกาศ เมื่อปลาไม่สามารถใช้แรงโน้มถ่วงเป็นตัวอ้างอิงการว่ายน้ำได้ มันก็ใช้สิ่งเร้าอย่างอื่นแทน ซึ่งในกรณีของการศึกษาในตอนนั้น ปลาทั้งสองได้ว่ายน้ำโดยหันหลังให้กับแหล่งกำเนิดแสงของสถานีอวกาศ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เรียกว่า Dorsal Light Response คล้ายคลึงกับบนโลกที่ปลาจะว่ายน้ำโดยหันหลังให้กับผิวน้ำที่มักมีแสงส่องลงมา

 


ฟังรายการได้ทาง


 

บทความอื่นๆ
แผ่นเสียง แผ่นเสียง
กำลังออกอากาศ ไม่มีการออกอากาศ แผ่นเสียง Radio แผ่นเสียง Podcast เล่นแผ่นเสียง พักแผ่นเสียง
คลิปเสียงถัดไป