บทความ / ยานพี่น้องตระกูลมารีเนอร์ทั้ง 10 ลำ
Sci & Tech
ยานพี่น้องตระกูลมารีเนอร์ทั้ง 10 ลำ
12 เม.ย. 67
688
รูปภาพในบทความ ยานพี่น้องตระกูลมารีเนอร์ทั้ง 10 ลำ

ต้นทศวรรษที่ 1960 นับได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่การแข่งขันด้านการสำรวจอวกาศระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตกำลังเริ่มปะทุอย่างรุนแรง จากการที่ในปี 1961 โซเวียตได้สามารถส่งยูริ กาการิน (Yuri Gagarin) บินขึ้นไปกับภารกิจวอสตอก-1 (Vostok-1) กลายเป็ยมนุษย์คนแรกที่ขึ้นสู่ชั้นวงโคจรได้สำเร็จ และในปีเดียวกัน จอห์น เอฟ เคนเนดี้ (John F. Kennedy) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้นก็ได้แสดงวิสัยทัศน์ที่จะส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์ภายในสิ้นทศวรรษ หรือปี 1969 ให้ได้เป็นครั้งแรก

ถึงแม้ว่ายุค 1960 เป็นยุคที่ผู้สนใจด้านอวกาศรู้จักกันจากการแข่งขันสู่ดวงจันทร์ ที่มีโครงการอย่างเมอร์คิวรี (Mercury) เจมินี (Gemini) อะพอลโล (Apollo) หรือการสร้างจรวด N-1 ของโซเวียตเกิดขึ้น แต่แท้จริงแล้วทศวรรษดังกล่าว ก็อาจมองได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นการสำรวจอวกาศห้วงลึกและดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ ในระบบสุริยะเช่นเดียวกัน เมื่อนาซ่าและเจพีแอล (JPL) ได้ริเริ่มโครงการมาริเนอร์ขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว

การทำภารกิจนอกตัวยาน (Space Walk) ของเอ็ด ไวท์ (Ed White) ในภารกิจเจมินี 4

โครงการมารีเนอร์เป็นโครงการที่เกิดขึ้นในระหว่างปี ค.ศ. 1962 ถึง 1973 โดยมีภารกิจด้วยกันทั้งสิ้น 10 ภารกิจ โดยนักวิทยาศาสตร์ได้สร้างยาน 10 ลำเดินทางไปสำรวจดาวศุกร์ ดาวอังคาร และดาวพุธตามลำดับ ซึ่งมีวิธีการสำรวจแตกต่างกันออกไปสองประเภท ได้แก่ การบินโฉบ (Flyby) ที่ยานบินผ่านดาวเคราะห์เป้าหมายและเก็บข้อมูลต่าง ๆ ในระหว่างการบินผ่านนั้น เป็นจำนวน 8 ภารกิจ และการโคจรรอบ (Orbiter) ที่ยานเข้าสู่วงโคจรของดาว และเก็บข้อมูลในระหว่างการโคจรรอบดาว ซึ่งอาจยาวนานนับปี เป็นจำนวน 2 ภารกิจ

ยานในภารกิจมารีเนอร์มักถูกสร้างขึ้นเป็นคู่ตามวัฒนธรรมในสมัยนั้น ที่เล็งเห็นว่าการสร้างยานฝาแฝดที่ใช้แม่แบบเดียวกันไปทำภารกิจแบบเดียวกัน จะช่วยลดความเสี่ยงและผลกระทบได้หากภารกิจหนึ่งไม่สำเร็จ เพราะยังมียานแฝดอีกลำที่สำรองเอาไว้ โดยวิธีการนี้สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการออกแบบยานและภารกิจได้ ทำให้การสร้างยานแฝดต้องใช้งบเพียงแค่ในการผลิตเท่านั้น

มารีเนอร์ 1 กับมารีเนอร์ 2 ที่ถูกออกแบบเป็นยานแฝดให้ไปทำภารกิจบินโฉบดาวศุกร์ และมารีเนอร์ 3 กับมารีเนอร์ 4 ที่เป็นยานแฝดเพื่อบินโฉบดาวอังคาร ก็เป็นตัวยืนยันผลลัพธ์ของแนวคิดในการสร้างยานสองลำได้เป็นอย่างดี เพราะภารกิจมารีเนอร์ 1 ล้มเหลวไปในปี ค.ศ. 1962 แต่มารีเนอร์ 2 ได้ทำภารกิจแบบเดียวกันจนสำเร็จในปี ค.ศ. 1963 และมารีเนอร์ 3 ล้มเหลวในปี ค.ศ. 1964 แต่มารีเนอร์ 4 ก็ได้สานต่อภารกิจจนสำเร็จได้ในปี ค.ศ. 1965 ทำให้ไม่มีข้อมูลที่ต้องการศึกษาค้นคว้าต้องมลายหายไปจากความล้มเหลวของหนึ่งภารกิจ

ยานมารีเนอร์ 2

มารีเนอร์ 5 เป็นมาริเนอร์ที่ถูกสร้างขึ้นจากอะไหล่ของมารีเนอร์ก่อนหน้า ทำให้เป็นยานที่ไม่มีแฝด แต่ก็ทำภารกิจในการบินผ่านดาวศุกร์ได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1967 ส่วนมารีเนอร์คู่ถัดมาอย่างมารีเนอร์ 6 และมารีเนอร์ 7 ที่ถูกออกแบบให้ไปบินผ่านดาวอังคารก็ประสบความสำเร็จทั้งคู่ ในขณะที่มารีเนอร์ 8 (ปล่อยในปี ค.ศ. 1971) และ 9 (ปล่อยในปี ค.ศ. 1972) ที่ถูกออกแบบให้ไปโคจรรอบดาวอังคารเป็นภารกิจคู่แรก มีเพียงมารีเนอร์ 9 เท่านั้นที่ทำสำเร็จ จากการที่มารีเนอร์ 8 เสียหายระหว่างการปล่อยยาน

ยานมารีเนอร์ 6

มารีเนอร์ 10 ซึ่งเป็นยานลำสุดท้ายของโครงการ ที่ถูกปล่อยไปในปี ค.ศ. 1973 ก็เป็นมารีเนอร์ที่ไม่มีแฝดเช่นกัน ซึ่งเป็นผลพวงจากการที่งบประมาณด้านการสำรวจอวกาศถูกตัดทอนลง เนื่องจากความสนใจของประชาชนที่ลดน้อยลง หลังจากอะพอลโล 11 สามารถพามนุษย์ไปดวงจันทร์ได้สำเร็จแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม มารีเนอร์ 10 ก็ทำภารกิจการบินผ่านดาวศุกร์และดาวอังคารของมันได้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี นับเป็นการปิดฉากโครงการอย่างสง่างาม ซึ่งได้ทำให้ประเทศสหรัฐฯ สามารถเดินทางไปสำรวจดาวเคราะห์ทุกดวงในระบบสุริยะชั้นในได้สำเร็จเป็นครั้งแรก

 


ฟังรายการได้ทาง


 

 

แผ่นเสียง แผ่นเสียง
กำลังออกอากาศ ไม่มีการออกอากาศ แผ่นเสียง Radio แผ่นเสียง Podcast เล่นแผ่นเสียง พักแผ่นเสียง
คลิปเสียงถัดไป