บทความ / ทำไมนิวตันถึงมีวันเกิดสองวัน?
Sci & Tech
ทำไมนิวตันถึงมีวันเกิดสองวัน?
22 มี.ค. 67
1,069
รูปภาพในบทความ ทำไมนิวตันถึงมีวันเกิดสองวัน?

ถ้าลองเข้าไปดูหน้าประวัติของไอแซก นิวตัน อาจจะสังเกตว่าในช่องวันเกิดได้มีการระบุวันเกิดเขาไว้เป็นสองวันที่แตกต่างกัน ได้แก่ 4 มกราคม ค.ศ. 1643 และ 25 ธันวาคม ค.ศ. 1642 แล้ววงเล็บไว้ว่า O.S. นั่นเป็นเพราะว่าการนับปฏิทินไม่ได้สมบูรณ์แม่นยำ หรือดำเนินมาอย่างราบรื่นตลอดเวลานับพันปี ตั้งแต่มีการสร้างปฏิทินขึ้นมาครั้งแรก แต่มันก็ได้ผ่านการแก้ไข ปรับเปลี่ยนเพื่อให้แม่นยำมากขึ้น และวันเกิดสองวันของนิวตันก็เป็นผลพวงที่ชัดเจนของการแก้ไขปฏิทินครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง

ไอแซก นิวตัน

ไอแซก นิวตัน เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่อาศัยอยู่ในประเทศอังกฤษที่ในขณะนั้นใช้ปฏิทินแบบจูเลียน ซึ่งถูกกำหนดขึ้นโดยจักรพรรดิจูเลียส ซีซาร์ตั้งแต่ 46 ปีก่อนคริสตศักราช ที่คำนวณว่าหนึ่งปีมีเวลา 365.25 วัน โดยนำเศษหนึ่งส่วนสี่วันนั้นไปรวมกันเป็นวันเดียวทุก 4 ปี ทำให้ในทุก 4 ปีจะมี 3 ปีที่มี 365 วัน และ 1 ปีที่มี 366 วัน หรือก็คือปีอธิกสุรทินนั่นเอง

จูเลียส ซีซาร์

แต่การคำนวณดังกล่าวนี้ ทำให้เวลา 1 ปียาวนานมากกว่าปีฤดูกาลจริงไปเล็กน้อยที่ประมาณ 365.2422 วัน จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1582 สมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรี่ที่ 13 ได้เห็นความไม่แม่นยำของปฏิทินจูเลียน จากการที่วันวิษุวัต หรือวันที่กลางวันยาวเท่ากับกลางคืนของแต่ละปีมาเร็วขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้คาดได้ว่าเวลาแต่ละปีในปฏิทินยังไม่ตรงกับปีฤดูกาล จึงได้กำหนดปฏิทินที่มีความแม่นยำกว่าเดิม โดยให้หนึ่งปีมีเวลา 365.2425 วัน และวางให้ทุก 100 ปี มีปีที่ควรจะเป็นอธิกสุรทินตามปฏิทินจูเลียนกลายเป็นปีปกติสุรทินที่มี 365 วันแทน (เช่น ค.ศ. 1800 หรือ ค.ศ. 1900) แต่ทุก 400 ปี ปีอธิกสุรทินที่ถูกกำหนดให้เป็นปกติสุรทินจะเป็นปีอธิกสุรทินตามเดิม (เช่น ค.ศ. 1600, ค.ศ. 2000)

ปฏิทินของสมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรี่ที่ 13 ถูกเรียกว่า ปฏิทินเกรกอเรียน ซึ่งเป็นรูปแบบของปฏิทินที่ใช้กันในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าเวลาจะไม่ตรงเป๊ะสักทีเดียว (ที่จะคลาดเคลื่อนไปประมาณ 26 วินาทีต่อปี) แต่มันก็แม่นยำมากพอที่จะไม่คลาดเคลื่อนเยอะเกินไปในช่วงเวลาหลักศตวรรษหรือสหัสวรรษ

สมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรี่ที่ 13

ถึงแม้ว่าปฏิทินเกรกอเรียนถูกคิดค้นในศตวรรษที่ 16 และประเทศอังกฤษได้นำปฏิทินรูปแบบนี้มาใช้ในศตวรรษที่ 18 หลังจากนิวตันเสียชีวิตไปแล้ว โดยเรียกปฏิทินแบบเก่าหรือแบบจูเลียนอย่างง่ายว่า Old Style ซึ่งเป็นที่มาของ (O.S.) ในหน้าวิกิพีเดียที่กล่าวไว้ตอนต้นบทความ ในขณะที่ปฏิทินเกรกอเรียนแบบใหม่ถูกเรียกว่า New Style

เมื่อมาคำนวณย้อนกลับแล้ว ตั้งแต่วันที่จูเลียส ซีซาร์ประกาศใช้ปฏิทินจูเลียน ไปจนถึงวันเกิดนิวตัน มีวันที่คลาดเคลื่อนระหว่างปฏิทินจูเลียนและเกรกอเรียนไปทั้งหมด 11 วัน ซึ่งเป็นสาเหตุให้วันเกิดของนิวตันเลื่อนจากวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 1942 กลายไปเป็นวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 1943 นั่นเอง

 


ฟังรายการได้ทาง


 

แผ่นเสียง แผ่นเสียง
กำลังออกอากาศ ไม่มีการออกอากาศ แผ่นเสียง Radio แผ่นเสียง Podcast เล่นแผ่นเสียง พักแผ่นเสียง
คลิปเสียงถัดไป