บทความ / ความท้าทายเศรษฐกิจจีนปี 2567 : เน้นบริโภคในประเทศ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจฟื้นตัว
News & Analysis
ความท้าทายเศรษฐกิจจีนปี 2567 : เน้นบริโภคในประเทศ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจฟื้นตัว
19 ม.ค. 67
1,554
รูปภาพในบทความ ความท้าทายเศรษฐกิจจีนปี 2567 : เน้นบริโภคในประเทศ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจฟื้นตัว

ปีเถาะ 2566 ที่ผ่านมา จีนต้องเผชิญกับปัญหาและความท้าทายทั้งภายในและภายนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้า สงครามการค้า สงครามรัสเซีย-ยูเครน สงครามอิสราเอล-ฮามาส ปัญหาอสังหาริมทรัพย์ และหนี้รัฐบาลท้องถิ่น รวมทั้งกำลังซื้อและการบริโภคภายในประเทศที่ชะลอตัวลง ผู้คนหันไปออมเงินมากกว่าการใช้จ่าย ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนซบเซากว่าที่หลายฝ่ายคาดหวังให้บรรลุเป้าหมาย 5% ที่ตั้งไว้แบบหืดขึ้นคอ

ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ประมวลภาพรวมปัจจัยที่มีผลต่อเศรษฐกิจจีนปีที่แล้วว่าเศรษฐกิจโลกก็เติบโตช้าเช่นกัน จึงส่งผลกระทบต่อจีนด้วย โดยเฉพาะหลังสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ต่อเนื่องยาวนานหลายปี

สำหรับปัจจัยภายในประเทศที่ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนโตช้า ประการแรกคือ ปัญหาหนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่น สืบเนื่องจากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีการใช้เงินคงคลังจำนวนมหาศาลเพื่อต่อสู้กับโควิด-19 ทำให้การบริหารเงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกมีไม่มากนัก รัฐบาลจีนถึงกับต้องขายพันธบัตรรัฐบาลมูลค่าถึง 1 ล้านล้านหยวน โดยรัฐบาลกลางค้ำประกันแล้วจัดสรรเงินให้รัฐบาลท้องถิ่นนำไปใช้พัฒนาเมืองในปลายปี 2566 ที่ผ่านมา

ปัจจัยต่อมาคือปัญหาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเกิดต่อเนื่องมา 2-3 ปีแล้วเช่นกัน อีกทั้งยังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ราคาอสังหาริมทรัพย์ในจีนตอนนี้ไม่ค่อยกระเตื้องมาก ทั้ง ๆ ที่เป็นแหล่งออมและลงทุนของชาวจีน เนื่องจากรัฐบาลจัดระเบียบคุมราคาขายไม่ให้สูงเกินไปและคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายการก่อสร้าง รวมทั้งผลักดันให้สถาบันการเงินควบคุมระบบการให้สินเชื่ออย่างเหมาะสม ออกแนวทางจูงใจให้นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีกิจการหลากหลายขายธุรกิจรองเพื่อนำเม็ดเงินมาจุนเจือธุรกิจหลักแลกกับสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ตอบแทน

ปัจจัยที่ 3 คือ อัตราการบริโภคภายในประเทศที่ซบเซา เนื่องจากคนจีนไม่มั่นใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอนาคตจึงเลือกจะใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น และเก็บออมมากขึ้น ดร.ไพจิตรกล่าวเพิ่มเติมว่า หอการค้าไทยในจีนได้เคยสำรวจร้านอาหารในประเทศจีนหลังหยุดยาววันชาติจีนพบว่า กำลังซื้อหายไป 20-30 % บางร้านลดลงในสัดส่วนกว่าครึ่งของรายได้ในอดีต สะท้อนให้เห็นว่าคนจีนจำกัดการซื้อเพิ่มขึ้น

จีนยังต้องเผชิญกับความท้าทายอีกหลายเรื่องในปี 2567 นี้ ทั้งปัจจัยภายนอก เช่น ภูมิรัฐศาสตร์โลก การเมืองระหว่างประเทศ โดยในปีนี้หลายชาติจะมีการเลือกตั้งและเลือกผู้นำใหม่ทั้งไต้หวัน สหรัฐฯ และอังกฤษ ซึ่งจีนอาจกลายเป็นคู่ต่อสู้และคู่ความขัดแย้งในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ไม่นับความอ่อนไหวของเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกัน เช่น เมียนมาร์และอินเดีย

ในขณะเดียวกัน ความเปลี่ยนแปลงภายในประเทศของจีนก็น่าสนใจและชวนให้ติดตามทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมแนวใหม่ที่เน้นเทคโนโลยีขั้นสูง และนวัตกรรมต่าง ๆ ทดแทนอุตสาหกรรมการผลิตแบบเก่าที่สร้างมลพิษ หรือการมุ่งเป้าพลังงานสะอาด พลังงานสีเขียวและแผนพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด หลายหัวเมืองใหญ่มีสัดส่วนรถไฟฟ้ามากเกือบครึ่งหนึ่งของรถในท้องถนน ซึ่งเป็นทิศทางสอดคล้องกับแนวโน้มระดับโลกที่สนใจยานยนต์ทางเลือกเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ แนวโน้มการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของจีนจะเป็นการสร้างโดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาช่วยอำนวยความสะดวกมากขึ้นตั้งแต่ต้นทาง คือ การเริ่มก่อสร้างจนกระทั่งการออกแบบและประโยชน์ใช้สอยภายในบ้าน อีกทั้งยังเน้นการสร้างโดยใช้เทคโนโลยีสะอาด เช่น โซล่าเซลล์ และให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อม เพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อยกระดับมาตรฐานบ้านในโครงการ แต่ความเสี่ยงที่เกิดขึ้น คือ เมื่อต้นทุนการก่อสร้างเพิ่มขึ้น แต่กลับถูกคุมราคาขายไม่ให้แพงหรือสูงจนเกินไป ทำให้ในอนาคตโครงการที่สายป่านไม่ยาวมากหรือเป็นธุรกิจขนาดรอง ๆ อาจต้องปิดตัวลง ส่งผลให้โอกาสสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ลดลง เหลือแต่ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่แข่งขันกันในตลาด

ดร.ไพจิตรมองว่า ภาพที่จะเกิดขึ้นคือกิจการที่ถือครองโดยหน่วยงานภาครัฐจีนมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการแทรกแซงตลาดของรัฐบาลจีนผ่านหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเข้าไปร่วมแข่งขันในตลาดและภาคการผลิตก็เป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่ต้องการสร้างสมดุลของภาพรวมของเศรษฐกิจ ความท้าทายคือ รัฐบาลจีนจะบริหารสัดส่วนของผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ กลางและเล็กให้อยู่ได้ในภาพรวมและมีสมดุลได้อย่างไร จะใช้มาตรการแบบใดเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ รวมทั้งสร้างความมั่นใจให้เอกชนเข้ามาลงทุนในจีนมากขึ้น

แนวโน้มอีกประการหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมจีนคือการส่งเสริมชาตินิยมและสนับสนุนสินค้าสัญชาติจีนแทนการซื้อจากต่างประเทศ นักลงทุนไทยจำเป็นต้องจับตาความเปลี่ยนแปลงนี้ เพราะไทยส่งออกสินค้าไปจีนด้วยเช่นกัน หากแนวโน้มนี้มีมากขึ้น อาจกระทบการส่งออกของไทยด้วย

ดร.ไพจิตร ทิ้งท้ายว่า ต้องจับตาความเคลื่อนไหวของจีนในปี 2568 ซึ่งเป็นปีที่รัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ประกาศไว้ว่าจะเป็นหมุดหมายความสำเร็จของหลายนโยบายสำคัญ อีกทั้งยังเป็นวาระครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ไทย-จีนด้วย


โดย โสภิต หวังวิวัฒนา



ฟังรายการได้ทาง


บทความอื่นๆ
แผ่นเสียง แผ่นเสียง
กำลังออกอากาศ ไม่มีการออกอากาศ แผ่นเสียง Radio แผ่นเสียง Podcast เล่นแผ่นเสียง พักแผ่นเสียง
คลิปเสียงถัดไป