
ในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 นาซาได้เตรียมทำภารกิจสำรวจดาวอังคารครั้งใหม่ในชื่อ “Mars Exploration Rover (MER) Mission” ส่งยานโรเวอร์แฝดสองตัวในชื่อรหัสระหว่างพัฒนาคือ MER-A และ MER-B ไปยังดาวเคราะห์แดงดวงในช่วงกลางปี ค.ศ. 2003
ปลายปี ค.ศ. 2002 นาซาประกาศโครงการ "Name the Rovers" เปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนในสหรัฐอเมริกา เขียนเรียงความเสนอชื่อของโรเวอร์ฝาแฝดคู่นี้ สิ่งที่น่าสนใจคือ นาซาได้เลือกประสานความร่วมมือกับบริษัทผลิตของเล่นสัญชาติเดนมาร์กอย่าง "เลโก้ (LEGO)" มาเป็นผู้ดำเนินการโครงการนี้ ร่วมกับสมาคมดาวเคราะห์ (Planetary Society) ที่มีบทบาทในการสร้างความตระหนักรู้ด้านวิทยาศาสตร์แก่สังคมมาอย่างยาวนาน
หลังการจัดกิจกรรมเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการประกวดชื่อและภาพรวมของโครงการสำรวจดาวอังคารในครั้งนั้น ได้มีการปิดรับผลงานเรียงความในช่วงเดือนมกราคม ปี 2003 มีผู้ส่งเรียงความมาเกือบ 10,000 ผลงาน ก่อนที่จะแถลงประกาศผลในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน
ภาพจำลองยานสำรวจดาวอังคาร Spirit และ Opportunity
ผู้ชนะการประกวดในครั้งนั้นคือ โซฟิ คอลลิส (Sofi Collis) เด็กนักเรียนเกรดสาม วัย 9 ขวบ จากรัฐแอริซอนา อดีตเด็กกำพร้าจากไซบีเรียที่ได้รับการอุปถัมป์โดยครอบครัวชาวอเมริกัน เธอเขียนไว้ในเรียงความว่า "ฉันเคยอาศัยอยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า มันมืด หนาว และเหงาหงอย ในตอนกลางคืนฉันแหงนมองขึ้นไปบนฟากฟ้าอันเป็นประกายและรู้สึกดีขึ้น ฉันนึกฝันว่าฉันสามารถบินขึ้นไปบนนั้นได้ ในอเมริกาฉันสามารถทำให้ความฝันทั้งหมดเป็นจริง ต้องขอขอบคุณ “จิตวิญญาณ” (Spirit) และ “โอกาส” (Opportunity)"
แผ่นดีวีซีที่บรรจุรายชื่อ เดินทางไปพร้อมกับยานสำรวจดาวอังคารทั้งสองลำ
ตุ๊กตามินิฟิกเกอร์ Biff Starling และ Sandy Moondust
ยาน Spirit และ Opportunity เดินทางถึงพื้นผิวดาวอังคารในเดือนมกราคมปี ค.ศ. 2004 ตามแผนการที่วางไว้ อนุสรณ์ความทรงจำชิ้นหนึ่งที่ติดไปกับยานทั้งสอง คือแผ่นดีวีดีที่บรรจุรายชื่อของผู้คนจำนวน 4,000,000 รายชื่อ ที่ร่วมส่งชื่อไปในแคมเปญส่งชื่อไปดาวอังคาร รวมถึงมีชิ้นส่วนเลโก้พิเศษที่หล่อขึ้นจากอะลูมิเนียม และ "มินิฟิกเกอร์" (Minifigure) ตุ๊กตาขนาดเล็กรูปแบบตัวต่อเลโก้ในชุดนักบินอวกาศประดับบนแผ่นซีดีบนตัวยานทั้งสอง
การร่วมมือในครั้งนั้นนับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของความสัมพันธ์อันยาวนานที่แปลกประหลาด ระหว่างบริษัทผู้ผลิตของเล่นยอดนิยมกับวงการสำรวจอวกาศ ซึ่งหลังจากนั้น “เลโก้” ได้ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศอีกหลายครั้งตั้งแต่ในระดับวงโคจรโลก วงโคจรของดวงจันทร์ ไปจนถึงวงโคจรของดาวพฤหัสบดี
ตัวต่อเลโก้ชุดสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS)
ติดตามประวัติศาสตร์ความผูกพันธ์อันยาวนานของเลโก้และการสำรวจอวกาศได้ใน Starstuff เรื่องเล่าจากดวงดาว ตอน "ตัวต่อเลโก้บนวงโคจรดาวพฤหัสบดี"