บทความ / แบคทีเรียกับการจัดการขยะพลาสติกในอวกาศ
Sci & Tech
แบคทีเรียกับการจัดการขยะพลาสติกในอวกาศ
26 ต.ค. 66
1,032
รูปภาพในบทความ แบคทีเรียกับการจัดการขยะพลาสติกในอวกาศ

ปัญหาสำคัญของการสำรวจอวกาศที่มักจะถูกมองข้ามคือ การหมุนเวียนทรัพยากรและกำจัดขยะ ความยุ่งยากประกอบกับราคาที่สูงลิ่วในการส่งสิ่งของหนึ่งชิ้นขึ้นสู่อวกาศ ทำให้การจัดการทรัพยากรอย่างคุ้มค่ากลายเป็นประเด็นสำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก่อให้เกิดโครงการและเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ถูกใช้ในอวกาศมากมาย เช่น ระบบหมุนเวียนน้ำและอากาศที่ซับซ้อนบนสถานีอวกาศนานาชาติ (ECLSS), ระบบการปลูกพืชในพื้นที่จำกัด (Veggie และ Advanced Plant Habitat) ไปจนถึงการทดลองสร้างออกซิเจนบนดาวอังคารที่ถูกส่งไปกับโรเวอร์ Perseverance อย่าง MOXIE

หนึ่งในทรัพยากรที่มีความสำคัญอย่างมากต่อสังคมมนุษย์ทั้งบนโลกและในอวกาศก็คือ พลาสติก เป็นสาเหตุให้ทีมนักวิจัยจาก MIT Media Lab ร่วมกับบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์จุลินทรีย์ SeedLabs, ห้องทดลองพลังงานหมุนเวียนแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NREL), Weill Cornell Medicine มหาวิทยาลัยคอร์เนล, และ Harvard Medical School มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สร้างโครงการวิจัยการหมุนเวียนทรัพยากรพลาสติกในอวกาศ โดยใช้เครื่องมือที่น่าสนใจอย่าง “แบคทีเรีย” มาจัดการในชื่อโครงการ "MicroPET" โดยมี “พีพี-พัทน์ ภัทรนุธาพร” สมาชิกชาวไทยของ MIT Media Lab เป็นหนึ่งในนักวิจัยสำคัญของโครงการ

พีพี - พัทน์ ภัทรนุธาพร หนึ่งในทีมวิจัยของ MIT Media Lab ที่ศึกษาโครงการ MicroPET

ประเด็นหลักของงานวิจัยชิ้นนี้คือ การใช้เอนไซม์จากแบคทีเรีย เปลี่ยนสารประกอบของพลาสติก PET เป็นโมโนเมอร์ของไนลอนที่สามารถนำใช้ใหม่ได้ โดยศึกษาผลกระทบของสภาวะในอวกาศอย่างสภาพแรงโน้มถ่วงต่ำหรือรังสีที่เข้มข้นต่อการทำงานของแบคทีเรีย งานทดลองชิ้นนี้ได้ถูกส่งขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติไปกับภารกิจ SpaceX CRS-26 เมื่อเดือนพฤจิกายน ค.ศ. 2022 ก่อนกลับลงมายังโลกช่วงต้นปี ค.ศ. 2023 พีพีกล่าวว่า ผลลัพธ์เบื้องต้นของการทดลองแสดงให้เห็นว่าวิธีการนี้ได้ผลจริง และจะตีพิมพ์ผลการศึกษาฉบับเต็มในเร็ว ๆ นี้

การศึกษาในโครงการ MicroPET

การทดลอง MicroPET ได้รับเลือกเป็น 1 ใน 10 นวัตกรรมแห่งปี 2022 โดย FastCompany และเป็น Finalist ของการแข่งขัน ISS National Lab Sustainability Challenge

พูดคุยกับ “พีพี-พัทน์ ภัทรนุธาพร” นักนวัตกรรมอนาคตจาก MIT Media Lab ถึงการทดลอง MicroPET และงานวิจัยข้ามศาสตร์ชวนว้าวอีกมากมาย ภายใต้แนวคิดการก้าวข้ามขีดจำกัดของมนุษย์ เพื่อสร้างรากฐานวัฒนธรรมที่มั่นคงในอวกาศ ใน Starstuff เรื่องเล่าจากดวงดาว พูดคุยกับ "พีพี" นักนวัตกรรมอนาคตจาก MIT Media Lab ตอนที่ 1 และ 2 ได้ทาง ThaiPBS Podcast


ฟังรายการได้ทาง


 

บทความอื่นๆ
แผ่นเสียง แผ่นเสียง
กำลังออกอากาศ ไม่มีการออกอากาศ แผ่นเสียง Radio แผ่นเสียง Podcast เล่นแผ่นเสียง พักแผ่นเสียง
คลิปเสียงถัดไป