บทความ / “ขยะอวกาศ” ปัญหาชวนปวดหัวที่ต้องหาทางจัดการ
Sci & Tech
“ขยะอวกาศ” ปัญหาชวนปวดหัวที่ต้องหาทางจัดการ
12 ก.ย. 66
954
รูปภาพในบทความ “ขยะอวกาศ” ปัญหาชวนปวดหัวที่ต้องหาทางจัดการ

ระยะเวลาในการสำรวจอวกาศ จากที่เคยทำภารกิจเพียงครั้งละไม่กี่วันไปจนถึงสัปดาห์ เมื่อนวัตกรรมและเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น ทำให้มนุษย์สามารถใช้เวลาอยู่ในอวกาศยาวนานขึ้น เช่น สถานีอวกาศมีร์ (Mir) ของอดีตสหภาพโซเวียต, สถานีอวกาศสกายแล็บ (Skylab) ของสหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่สถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station) ซึ่งเปลี่ยนบทบาทจากยานพาหนะลำเลียงที่ใช้ในเวลาสั้น ๆ ไปเป็นห้องปฏิบัติการลอยฟ้า มีอายุการใช้งานนานนับปีหรือนับทศวรรษ มีนักบินอวกาศหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันไปปฏิบัติภารกิจ ทำให้สถานการณ์ขยะล้นสถานีอวกาศกลายเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไป จึงจำเป็นต้องหาวิธีรับมือที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัย

สถานีอวกาศสกายแล็บ (Skylab) ขณะทำการ Deorbit เพื่อเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก หลังจากปลดประจำการ

ในยุคบุกเบิกของโครงการสถานีอวกาศ ขยะที่เกิดขึ้นบนสถานีมักจะถูกทยอยขนกลับลงมากำจัดบนพื้นโลกพร้อมกับยานพาหนะนำส่งนักบินหรือกระสวยและแคปซูลยานอวกาศ จนกระทั่งในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 2003 วงการอวกาศได้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ เมื่อกระสวยอวกาศโคลัมเบียระเบิดในระหว่างเดินทางกลับสู่โลก คร่าชีวิตของนักบินอวกาศในภารกิจไปถึง 7 คน เหตุการณ์ครั้งนั้นส่งผลให้วงการอวกาศต้องทบทวนกฎเกณฑ์และมาตรการในการปฏิบัติภารกิจครั้งใหญ่

หนึ่งในเรื่องนั้นคือ การจัดการขยะอวกาศ เพราะการขนกลับลงมาสู่โลกอาจไม่เหมาะในหลายกรณี โดยเฉพาะสารอันตรายหรือวัตถุชิ้นใหญ่  มีความเสี่ยงทั้งสารเคมีตกค้างที่อาจเป็นอันตรายสำหรับนักบินหรือเมื่อนำลงมาสู่พื้นโลกแล้วต้องหาวิธีกำจัดที่ถูกต้อง อีกทั้งอาจมีต้นทุนจัดการสูงมากจนไม่คุ้มค่า

ประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดคุยและวางหลักการอย่างจริงจังคือ วิธีทิ้งสิ่งของออกจากตัวยาน แบบ Jettison ซึ่งเป็นคำเดียวกับที่ใช้ในการทิ้งขยะจากยานพาหนะประเภทอื่น ๆ เช่น เครื่องบิน โดยใช้หลักการ Destructive Reentry เมื่อวัตถุที่ไม่มีฉนวนกันความร้อนเสียดสีในชั้นบรรยากาศ ทำให้เกิดความร้อนสูงจนวัตถุดังกล่าวระเบิดออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ เผาไหม้จนหมด ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับการทำให้อุกกาบาตขนาดเล็กถูกเผาไหม้จนหมดก่อนลงมาชนโลก

ถึงแม้การทิ้งขยะในอวกาศไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งถูกศึกษาค้นพบ แต่ก็ไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาและประยุกต์ใช้อย่างจริงจัง เนื่องจากข้อกังวลด้านความปลอดภัย เพราะหากทิ้งในอวกาศโดยเฉพาะชั้นวงโคจร และกำหนดวิถีทิ้งขยะไม่ดีมากพอ มีความเสี่ยงที่วัตถุดังกล่าวจะไปกระทบหรือชนกับส่วนอื่นของยานและสถานีอวกาศโดยไม่ได้ตั้งใจ หรืออาจมีการชนกับวัตถุและดาวเคราะห์อื่นจนเป็นอันตรายหรือเกิดการระเบิดในภายหลังได้ แต่เมื่อวิธีดั้งเดิมอย่างการขนกลับลงมากับยานอวกาศถูกตั้งข้อกังวลด้านความปลอดภัย ทำให้วิธีการ Jettison กลายมาเป็นทางเลือกใหม่ที่ดูเป็นไปได้ที่สุดในเวลานี้

วิธีการ Jettison ถูกใช้ครั้งแรกบนสถานีอวกาศนานาชาติเมื่อปลายปี ค.ศ. 2005 เป็นปฏิบัติการนอกพาหนะ (Extravehicular Activity : EVA) โดยให้นักบินอวกาศนำขยะชิ้นเล็ก ๆ ทิ้งไปในทิศทางตรงกันข้ามกับการโคจรของสถานีอวกาศ ซึ่งประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย

อีกกรณีที่ใช้วิธีการนี้แล้วประสบความสำเร็จคือ ในภารกิจ Expedition 15 บนสถานีอวกาศนานาชาติ เมื่อเครื่อง Early Ammonia Servicer (EAS) ซึ่งทำหน้าที่เป็นอ่างเก็บแอมโมเนียที่รั่วไหล หมดอายุการใช้งาน (ที่กำหนดไว้เพียง 5 ปี) การจัดการอุปกรณ์ขนาดเท่าตู้เย็นที่มีน้ำหนักกว่า 635 กิโลกรัมชิ้นนี้ ทำให้เกิดข้อโต้เถียงกันเป็นเวลาหลายเดือนในนาซา  เพราะทีมกระสวยอวกาศเห็นว่าอันตรายเกินไปที่จะขนลงมากับกระสวย ในขณะที่ทีมสถานีอวกาศนานาชาติก็ไม่เห็นด้วยที่จะเก็บไว้บนสถานี วิธีการ Jettison จึงถูกเลือกมาใช้ ในวันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ. 2007 โดยเคลย์ แอนเดอร์สัน (Clay Anderson) ได้ทิ้งเครื่อง EAS ออกจากสถานีอวกาศจนลุล่วงไปด้วยดี ด้วยเหตุนี้ Jettison จึงได้เป็นอีกหนึ่งตัวเลือก สำหรับการจัดการขยะอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติในเวลาต่อมา

การจัดการทิ้งเครื่อง EAS ด้วยวิธี Jettison เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2007

ติดตามเรื่องราวอันวุ่นวายของการจัดการขยะอวกาศ ที่น่าปวดหัวไม่แพ้การส่งของขึ้นอวกาศ ไปกับ เติ้ล - ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน และ ปั๊บ - ชยภัทร อาชีวระงับโรค ใน Starstuff เรื่องเล่าจากดวงดาว ตอน ขยะอวกาศกำจัดยังไง


ฟังรายการได้ทาง


บทความอื่นๆ
แผ่นเสียง แผ่นเสียง
กำลังออกอากาศ ไม่มีการออกอากาศ แผ่นเสียง Radio แผ่นเสียง Podcast เล่นแผ่นเสียง พักแผ่นเสียง
คลิปเสียงถัดไป