บทความ / สุนัขตัวที่สอง (และสาม) ในอวกาศ
Sci & Tech
สุนัขตัวที่สอง (และสาม) ในอวกาศ
11 เม.ย. 66
4,263
รูปภาพในบทความ สุนัขตัวที่สอง (และสาม) ในอวกาศ

คงเป็นที่รู้กันดีว่าสุนัขตัวแรกที่ได้เดินทางขึ้นไปถึงยังชั้นวงโคจรของโลก คือสุนัขสัญชาติรัสเซีย "ไลก้า" (Laika) ที่เดินทางขึ้นสู่อวกาศไปพร้อมกับยานสปุตนิก 2 (Sputnik 2) ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 1957 หรือเพียง 1 เดือนหลังจากสหภาพโซเวียตสามารถส่งสปุตนิก 1 (Sputnik 1) สู่วงโคจรเป็นดาวเทียมดวงแรกของโลกได้สำเร็จในวันที่ 4 ตุลาคมปีเดียวกัน

เป็นที่น่าเศร้าว่าจากเทคโนโลยีอวกาศในสมัยนั้น วิศวกรยังไม่มีวิธีควบคุมพาหนะให้ออกจากวงโคจร (de-orbit) ได้ นั่นทำให้ตั๋วเดินทางของไลก้าเป็นตั๋วเที่ยวเดียว ที่หลังจากสุนัขตัวนี้ได้เดินทางสู่อวกาศแล้ว มันก็ไม่มีโอกาสกลับลงมาเหยียบพื้นโลกอีกเลย ในท้ายที่สุดไลก้าตายจากความร้อนภายในแคปซูลในการโคจรรอบโลกรอบที่ 4 ของเที่ยวบิน


ภาพถ่ายของ "ไลก้า"

จนกระทั่งในภารกิจสปุตนิก 5 (Sputnik 5) ในวันที่ 19 สิงหาคม 1960 สหภาพโซเวียตได้ส่งแคปซูลที่บรรจุหนูกว่า 40 ตัว กระต่าย แมลงวันผลไม้ พืชหลากหลายชนิด และสุนัขสองตัว "เบลก้า" (Belka) และ "สเตรลก้า" (Strelka) เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับปฏิกิริยาของสิ่งมีชีวิตเมื่อต้องเผชิญหน้ากับสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำของอวกาศ

เมื่อย้อนดูข้อมูลสังเกตการณ์ของภารกิจ จะพบว่าพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ รวมไปถึงสุนัขทั้งสองปกติดีในระหว่างการปล่อย แต่เมื่อขึ้นไปถึงวงโคจรและเผชิญหน้ากับสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำแล้ว สิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่ดูจะมึนงงกับสิ่งที่ไม่คุ้นชินและค่อนข้างเงียบสงบเหมือนตกอยู่ในภวังค์ จนกระทั่งในการโคจรของโลกรอบที่ 4 ของภารกิจ เบลก้าก็เริ่มอาเจียนออกมา เป็นเหมือนสัญญาณที่ปลุกสุนัขทั้งสองให้ตื่นตัวมากขึ้น เริ่มเคลื่อนไหวและเห่าอีกครั้ง แต่โชคดีที่สัญญาณข้อมูลที่ส่งกลับมาแสดงให้เห็นว่าสุนัขทั้งสองตัวไม่ได้ตึงเครียดมากเกินไปในระหว่างการเดินทาง

หลังการโคจรรอบที่ 17 ศูนย์ควบคุมได้จุดเครื่องยนต์จรวดของยานเพื่อส่งแคปซูลภารกิจกลับลงมายังโลก เจ้าหน้าที่พบว่าสิ่งมีชีวิตที่ถูกส่งขึ้นไปล้วนปลอดภัยดี ทำให้พวกมันได้กลายเป็นสิ่งมีชีวิตชุดแรกในประวัติศาสตร์ที่เดินทางสู่วงโคจรของโลกและกลับลงมาได้อย่างปลอดภัย กลายเป็นรากฐานสำคัญที่ปูทางสู่ภารกิจการส่งยูริ กาการิน (Yuri Gagarin) ขึ้นสู่วงโคจรในภารกิจวอสตอค 1 (Vostok 1) มนุษย์คนแรกที่เดินทางสู่วงโคจรโลกได้สำเร็จในวันที่ 12 เมษายนปีถัดมา และทำให้ทั้ง เบลก้าและสเตรลก้า กลายเป็นขวัญใจมหาชนของชาวโซเวียตในยุคนั้น

   
ภาพถ่ายของ "เบลก้า" และ "สเตรลก้า" / ร่างของเบลก้าและสเตรลก้าในพิพิธภัณฑ์อวกาศ กรุงมอสโก

ในภายหลัง สเตรลก้า ได้มีลูกกับสุนัขเพศผู้ชื่อ พูช็อค (Pushok) จำนวน 6 ตัว หนึ่งในนั้นถูกตั้งชื่อว่า "พูชินก้า" (Pushinka) ถูกมอบเป็นของขวัญให้กับ จอห์น เอฟ. เคนเนดี ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ในปี 1961 เพื่อเสริมสัมพันธไมตรีระหว่าง 2 ชาติมหาอำนาจ ปัจจุบันร่างของเบลก้าและสเตรลก้าถูกเก็บรักษาและแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์อวกาศในกรุงมอสโกจนถึงทุกวันนี้


"พูชินก้า" ลูกของสเตรลก้า ในสนามหน้าทำเนียบขาว

ติดตามเรื่องราวของประวัติศาสตร์ของการส่งสัตว์ทดลองสู่อวกาศ จากการเตรียมความพร้อมในการนำมนุษย์สู่พรมแดนปริศนาสุดท้ายเพื่อทำความเข้าใจธรรมชาติ ที่หลายครั้งแล้วก็แลกมาด้วยชีวิต ไม่เพียงแค่สุนัขไลก้าที่เราคุ้นเคยถึงการเดินทางของมัน แต่ในช่วงที่ผ่านมามีสัตว์สายพันธุ์อื่นได้ถูกพาขึ้นสู่อวกาศมาแล้วหลายชนิด ได้อุทิศชีวิตให้กับมนุษย์ก่อนที่จะได้เดินทางก้าวข้ามเส้นคาร์แมน ใน Starstuff เรื่องเล่าจากดวงดาว

คำเตือน: ในตอนนี้มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการทรมานสัตว์ อาจสร้างความสะเทือนใจให้กับผู้ฟังได้

 

แผ่นเสียง แผ่นเสียง
กำลังออกอากาศ ไม่มีการออกอากาศ แผ่นเสียง Radio แผ่นเสียง Podcast เล่นแผ่นเสียง พักแผ่นเสียง
คลิปเสียงถัดไป