บทความ / “คาร์ล เซแกน” อ่านหนังสืออะไร?
Sci & Tech
“คาร์ล เซแกน” อ่านหนังสืออะไร?
16 มี.ค. 66
791
รูปภาพในบทความ “คาร์ล เซแกน” อ่านหนังสืออะไร?

สำหรับใครที่สนใจหรือคลุกคลีอยู่กับวงการวิทยาศาสตร์ คงจะคุ้นเคยกับชื่อของ คาร์ล เซแกน (Carl Sagan) นักดาราศาสตร์และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ชื่อดัง ที่ปรากฏตามหน้าหนังสือ บทความ หรือสารคดีวิชาการอยู่บ่อยครั้ง จากผลงานหลายชิ้นที่เป็นตำนานของเขา ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่เขาได้เขียนหนังสือหลายเล่ม หรือทำสารคดีในรูปแบบต่าง ๆ รวมไปถึงหนังสือและสารคดีคอสมอส (Cosmos) ซึ่งโด่งดังไปทั่วโลก ในแง่ของการทำโครงการอวกาศที่ได้เป็นหนึ่งในผู้ผลักดันโครงการเซติ (SETI) ในการตามหาสิ่งมีชีวิตต่างดาว เสนอแนวคิดให้ทำแผ่นป้ายติดไปกับยานไพโอเนียร์ (Pioneer) และทำแผ่นเสียงทองคำไปกับยานวอยเอจเจอร์ (Voyager) ทำให้ภาพ "จุดฟ้าจาง" (Pale Blue Dot) ช่วยให้มนุษย์ได้ตระหนักถึงที่ยืนของตนในจักรวาลอันกว้างใหญ่เป็นภาพที่ถูกพูดถึงอย่างมาก หรือแม้แต่เขียนนิยายไซไฟอันโด่งดังอย่าง "คอนแทค" (Contact) ที่ได้ถูกนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ในเวลาต่อมา

ผลงานหลากหลายสาขาของเขาเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบันได้เห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ การตามหาความรู้ และตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ สิ่งหนึ่งที่ คาร์ล เซแกน มักย้ำอยู่เสมอในการสื่อสารวิทยาสตร์ของเขาคือความสำคัญของหนังสือ ในตอนที่ 11 ของสารคดีชุด Cosmos: a Personal Voyage เขาได้กล่าวถึงความสำคัญของการอ่านและการเขียนเอาไว้ว่า

"สิ่งหนึ่งที่น่าประหลาดใจของหนังสือก็คือ มันเป็นวัตถุชิ้นแบนที่ทำขึ้นจากต้นไม้ที่มีส่วนยืดหยุ่น ที่ถูกประทับด้วยเส้นสีเข้มตลก ๆ จำนวนมาก แต่เมื่อใดที่ใครสักคนได้เหลือบมองมัน คุณจะได้เข้าไปอยู่ในความคิดของใครคนอื่น บางทีอาจเป็นคนที่เสียชีวิตไปแล้วนับพันปี ผู้เขียนคนนั้นได้ข้ามผ่านเวลานับสหัสวรรษ และเอ่ยวาจาอันชัดเจนและแผ่วเบาเข้าไปในหัวของคุณ ถึงคุณ การเขียนอาจเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษย์ ที่ได้สร้างสายใยเชื่อมโยงเหล่าผู้คนที่ไม่เคยรู้จักกันให้ได้พบกัน แม้เป็นผู้คนที่อยู่ห่างศักราชกันออกไป หนังสือได้ทำลายโซ่ตรวนของกาลเวลา หนังสือคือสิ่งที่พิสูจน์ว่ามนุษย์มีเวทมนตร์"

ในปี 2012 หอสมุดรัฐสภา ซึ่งเป็นหอสมุดแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ได้รับกระดาษรายการอ่าน (Reading List) ของ คาร์ล เซแกน ในสมัยที่เขายังคงศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยชิคาโกเมื่อปี 1954 รายการหนังสือนี้ครอบคลุมตั้งแต่เนื้อหาด้านวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ปรัชญา สังคมศาสตร์ และอื่น ๆ รวมแล้วหลายสิบรายชื่อด้วยกัน ตัวอย่างเช่น

  • Astronomy: An Introduction โดย โรเบิร์ต โฮเรส เบเกอร์ (Robert Horace Baker)
  • The Observational Approach to Cosmology โดย เอ็ดวิน โพเวลล์ ฮับเบิล (Edwin Powell Hubble)
  • In the Matter of J. Robert Oppenheimer โดย เจ. โรเบิร์ต โอเพนไฮเมอร์ (J. Robert Oppenheimer)
  • The Republic, Timaeus, และ The Symposium โดย เพลโต (Plato)
  • A History of Western Philosophy โดย ดับเบิลยู. ที. โจนส์ (W.T. Jones)
  • Julius Caesar โดยวิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare)


Reading List ของ คาร์ล เซแกน ในช่วงที่เขาศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยชิคาโกเมื่อปี 1954

จากความหลากหลายของรายการหนังสือนี้ อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุว่าทำไม คาร์ล เซแกน สามารถเข้าใจและเชื่อมโยงศาสตร์หลากหลายศาสตร์เข้าด้วยกัน รวมถึงสื่อสารและส่งต่อแรงบันดาลให้กับผู้คนจากหลากหลายภูมิหลังได้อีกนับไม่ถ้วนมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ

รายการหนังสือฉบับเต็มสามารถดูได้จากเว็บไซต์ของหอสมุดคองเกรส Sagan’s Papers Offer a Window into His Literary Pursuits

พูดคุยเกี่ยวกับการตามหาความรู้ คาร์ล เซแกน และรายการหนังสืออวกาศเล่มโปรดของ เติ้ล - ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน และ ปั๊บ - ชยภัทร อาชีวระงับโรค จากรายการ Starstuff เรื่องเล่าจากดวงดาว ได้ในพอดคาสต์ประจำสัปดาห์นี้

แผ่นเสียง แผ่นเสียง
กำลังออกอากาศ ไม่มีการออกอากาศ แผ่นเสียง Radio แผ่นเสียง Podcast เล่นแผ่นเสียง พักแผ่นเสียง
คลิปเสียงถัดไป