
การเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับทับทิม โดยอ้างว่ามีงานวิจัยที่พบว่าทับทิมสามารถช่วยกักเก็บเซลล์เม็ดเลือดแดงได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ช่วยให้ร่างกายมีระดับอินซูลินลดลง และระบบไหลเวียนเลือดกลับมาเป็นปกติ ทำให้อาการอ่อนเพลียลดลง ผมร่วงน้อยลง และผิวพรรณสดใสมากขึ้น แต่สรรพคุณเหล่านี้มีจริงหรือไม่
Malla Reddy University ที่เมืองไฮเดอราบาด ประเทศอินเดีย มีนิตยสารออนไลน์ (e-Magazine) ฉบับเดือนธันวาคม ปี 2020 มีบทความเรื่อง Pomegranate and its Benefits ให้ข้อมูลว่า “ทับทิมเป็นผลไม้ที่ทรงพลังที่สุด ซึ่งอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ มีแร่ธาตุและวิตามิน และสามารถใช้ในการรักษาโรคมะเร็งและหลอดเลือดหัวใจ ดังนั้นการบริโภคผลทับทิมเป็นประจำทุกวัน ทำให้เรามีสุขภาพที่ดีได้”
- งานวิจัยจากประเทศกรีซเรื่อง ผลของการบริโภคน้ำทับทิมต่อตัวชี้วัดทางชีวเคมีและการตรวจนับเม็ดเลือด (Effect of pomegranate juice consumption on biochemical parameters and complete blood count) ในวารสาร Experimental and Therapeutic Medicine ปี 2017 ซึ่งให้ข้อมูลจากการเลือกอาสาสมัครที่มีสุขภาพดีและไม่เฉื่อยชาจำนวน 10 คน (ชาย 5 คน และหญิง 5 คน) อายุ 25-39 ปี และน้ำหนัก 53-79 กิโลกรัม ให้ดื่มน้ำทับทิม 500 มิลลิลิตร/วัน เป็นเวลาสองสัปดาห์ ผลลัพธ์บ่งชี้ว่าการดื่มน้ำทับทิมในช่วงเวลาสั้น ๆ อาจส่งผลให้เม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้นหรือลดการถูกทำลายของเม็ดเลือด โดยสารต้านอนุมูลอิสระที่มีความเข้มข้นสูงในน้ำทับทิมมีแนวโน้มที่จะปกป้องเม็ดเลือดแดง แต่การศึกษานี้ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าปัจจัยใดที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้
- นักวิจัยด้านการออกกำลังกายจากสหรัฐอเมริกาตีพิมพ์บทความเรื่อง ผลของสารสกัดทับทิมต่อการไหลเวียนของเลือดและระยะเวลาที่ทำให้อ่อนเพลีย (Effects of pomegranate extract on blood flow and running time to exhaustion) ในวารสาร Applied Physiology, Nutrition, and Metabolism ปี 2014 ซึ่งให้ข้อมูลว่า การดื่มน้ำทับทิมก่อนออกกำลังกาย 30 นาที อาจส่งผลให้เส้นเลือดขยายตัว เพิ่มการไหลเวียนของเลือด และชะลอความเหนื่อยล้าระหว่างออกกำลังกาย
ในภาพรวมดูเหมือนว่าน้ำทับทิมมีศักยภาพในการลดความดันเลือด และในส่วนประเด็นของการเพิ่มเม็ดเลือด น้ำทับทิมช่วยเสริมสร้างเม็ดเลือดในคนที่มีอาการโลหิตจาง เนื่องจากทับทิมเป็นผลไม้ที่มีสารอาหารทั้งแร่ธาตุและวิตามินหลายชนิด
หากถามว่า น้ำทับทิมสามารถดื่มเพื่อบำรุงสุขภาพได้หรือไม่ คำตอบคือ ถ้าดื่มเป็นรูปแบบเครื่องดื่มทั่วไป ไม่มีการโฆษณาอ้างสรรพคุณในลักษณะของยาบำบัดโรคอาจไม่เป็นปัญหา แต่ถ้ามีการโฆษณาสรรพคุณของน้ำทับทิมไปในทางยารักษาโรคก็ผิดกฎหมายได้
ในสหรัฐอเมริกาเคยมีคดีตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับบริษัทแห่งหนึ่ง ที่ผลิตน้ำทับทิมบรรจุขวดขายยี่ห้อสมมติ PPP และได้ทำการโฆษณาสรรพคุณของน้ำทับทิมยี่ห้อนี้ในลักษณะเป็นยาที่สามารถบำบัด ป้องกัน หรือลดความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก หรืออาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (บริษัทได้ลงทุนนับร้อยล้านดอลลาร์ เพื่อทำวิจัยเกี่ยวกับผลทางสุขภาพของสินค้า) แต่ต่อมาคณะกรรมาธิการว่าด้วยการค้าแห่งสหพันธรัฐ (Federal Trade Commission: FTC ) ยื่นเรื่องร้องเรียนในปี 2010 ว่า บริษัทผู้ผลิตน้ำทับทิมยี่ห้อนี้ ได้ทำการโฆษณาหลอกลวง เนื่องจากไม่สามารถโฆษณาแบบนี้ได้
จนกระทั่งในปี 2013 ศาลอุทธรณ์ของ District of Columbia Circuit ยืนยันคำตัดสินของคณะกรรมาธิการว่าด้วยการค้าแห่งสหพันธรัฐ และในท้ายสุดศาลสูงสหรัฐ (U.S. Supreme Court) ปฏิเสธที่จะทบทวนคำตัดสินของศาลทั้งสองและเห็นด้วยกับคำตัดสินของคณะกรรมาธิการว่าด้วยการค้าแห่งสหพันธรัฐ ที่พบว่าผลิตภัณฑ์น้ำทับทิมยี่ห้อนี้ ได้ทำการโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภค
ในกรณีของน้ำทับทิมยี่ห้อสมมติ PPP ผลของคดีแสดงให้เห็นชัดเจนว่า บริษัทที่กล่าวอ้างว่าสินค้าอาหารและผลิตภัณฑ์อาหารเสริมมีผลต่อสุขภาพ สามารถป้องกันหรือบำบัดโรคร้ายแรงได้ ต้องมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้องชัดเจนมาสนับสนุน ถ้าไม่มีก็เท่ากับเป็นการโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภค ดังนั้น น้ำทับทิมเป็นเครื่องดื่มที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เมื่อดื่มในปริมาณตามปรกติในคนทั่วไป แต่ถ้าในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ซึ่งกินยาลดความดันเป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนดื่มน้ำทับทิม
บทความโดย : ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ นักพิษวิทยาและนักวิจัย
เรียบเรียงโดย : ชนาธิป ไพรพงค์
ฟังรายการได้ทาง
