
โครงการกระสวยอวกาศสิ้นสุดไปในปี ค.ศ. 2011 โดยมีภารกิจ STS-135 ของกระสวยอวกาศแอตแลนติส (Atlantis) เป็นเที่ยวบินสุดท้ายในเดือนกรกฎาคมปี ค.ศ. 2011 โดยหนึ่งในผลกระทบที่ตามมาของการยกเลิกโครงการ คือ การทำให้สหรัฐฯ ไม่มีพาหนะลำใดที่สามารถใช้ส่งนักบินอวกาศขึ้นสู่อวกาศและสถานีอวกาศนานาชาติที่ใช้งานได้เลยในขณะนั้น ทำให้นาซ่าได้ใช้วิธีการ "ซื้อ" ที่นั่งบนจรวดโซยุสของรัสเซีย ที่นักบินอวกาศจากฝั่งสหรัฐฯ ต้องเดินทางไปยังฐานปล่อยไบโคนูร์คอสโมโดรม (Baikonur Cosmodrome) ของรัสเซียที่คาซัคสถาน นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของเวลาเกือบ 10 ปีที่ไม่มีมนุษย์คนใดขึ้นบินสู่อวกาศจากผืนดินสหรัฐฯ จนกระทั่งภารกิจ SpaceX Crew-Demo 2 ในเดือนพฤษภาคมปี ค.ศ. 2020
การลงจอดของ STS-135
ในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 นาซ่ามีแนวในการทำงานแบบใหม่เกิดขึ้นมา โดยการใช้ประโยชน์จากการแข่งขันในภาคธุรกิจ เพื่อเร่งการพัฒนาของเทคโนโลยีอวกาศอย่างรวดเร็ว และลดต้นทุนจากในอดีตที่นาซ่าเป็นผู้ออกแบบโครงการ ยานอวกาศ และระบบต่าง ๆ ก่อนที่จะจ้างให้บริษัทเอกชนเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนตามที่นาซ่าต้องการ โดยนาซ่าได้ริเริ่มให้ทุนบริษัทในการออกแบบจรวดและยานอวกาศของตัวเอง และใช้วิธีการจ้างบริษัทเหล่านั้นให้จัดการบริการต่าง ๆ ด้วยเทคโนโลยีอวกาศที่แต่ละบริษัทมีของตัวเอง เช่น ในโครงการ Commercial Resupply Services (CRS) ที่นาซ่าจ้าง SpaceX และ Orbital Sciences ในการส่งพัสดุต่าง ๆ ขึ้นสถานีอวกาศนานาชาติ ที่ SpaceX ได้ใช้จรวด Falcon 9 และยานอวกาศ Dragon 1 ของตัวเองในการส่ง ในขณะที่ Orbital Sciences ใช้จรวด Antares และยานอวกาศ Cygnus
ถึงแม้ว่าโครงการ CRS ที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ในปี ค.ศ. 2012 ดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน และมีผลลัพธ์ที่ออกมาในแง่บวก โดยภารกิจมีความผิดพลาดเพียงน้อยครั้งและลดค่าใช้จ่ายได้จริง แต่ก็เป็นเวลาอีกหลายปีกว่าที่โครงการความร่วมมือกับทางฝั่งธุรกิจที่อาจดูยากกว่าอย่าง Commercial Crew Program (CCP) ที่นาซ่าจ้างบริษัทเอกชนในการส่งนักบินอวกาศขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติจะเกิดขึ้นได้จริง เนื่องจากมาตรการขนส่งมนุษย์ต้องควบคุมด้านความปลอดภัยที่สูงกว่าการขนส่งของประเภทอื่น ๆ เป็นอย่างมาก
บริษัทสำคัญเจ้าหนึ่งที่เข้ามาร่วมในโครงการ CCP ก็คือ SpaceX เจ้าเก่าเจ้าเดิม โดย SpaceX ได้ทำการดัดแปลงยานอวกาศ Dragon 1 ไปเป็นยาน Dragon 2 เพื่อมาตรฐานด้านความปลอดภัยและรองรับต่อการเดินทางของนักบินอวกาศ ซึ่งก่อนที่จะรับรองให้ยานอวกาศประเภทนี้เป็น Human-rated capsule โดยนาซ่า และใช้มันในการส่งนักบิน SpaceX ต้องผ่านมาตรการทดสอบความปลอดภัยหลายรูปแบบ และทำเที่ยวบินทดสอบ 2 เที่ยวบินด้วยกัน
ภาพถ่ายของยาน Dragon 2 ของภารกิจ Crew Demo-1 จากสถานีอวกาศนานาชาติ
เที่ยวบินแรกหรือ Crew Demo-1 คือ การลองส่งยาน Dragon 2 เปล่าไปเทียบท่ากับสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีในช่วงต้นเดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 2020 ในขณะที่เที่ยวบินที่ 2 หรือ Crew Demo-2 คือ การทำภารกิจคล้ายเดิมอีกครั้งแต่ส่งนักบินขึ้นไปจริงด้วย 2 คน
นักบินอวกาศที่ถูกส่งขึ้นไปกับภารกิจ Crew-Demo 2 มีชื่อว่าด็อก ฮาร์ลีย์ (Doug Harley) และบ็อบ เบห์นเกน (Bob Behnken) ซึ่งเคยมีประสบการณ์การบินในโครงการกระสวยอวกาศด้วยกันทั้งคู่ โดย Crew-Demo 2 ได้ถูกวางแผนไว้ให้ปล่อยในวันที่ 27 พฤษภาคม ค.ศ. 2020 ในเวลาเช้ามืดของประเทศไทย แต่ถูกเลื่อนออกไปจากปัญหาด้านสภาพอากาศ จนกระทั่งสามารถถูกปล่อยจริงในวันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ. 2020 และเทียบท่ากับสถานีอวกาศได้สำเร็จ
บ็อบ เบห์นเกน (ซ้าย) และด็อก ฮาร์ลีย์ (ขวา)
นักบินทั้ง 2 คนทำภารกิจอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติเป็นเวลาประมาณ 2 เดือนก่อนกลับมาถึงโลกในวันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ. 2020 ทำให้ Dragon 2 สามารถผ่านการทดสอบยานอวกาศให้อยู่ในระดับ Human-rated ได้สำเร็จ
