









(29 ก.ย. 66) ไทยพีบีเอสพอดคาสต์ ร่วมกับ ศูนย์สื่อศิลปวัฒนธรรมไทยพีบีเอส จัดเวทีเสวนา แลโลกเห็นเรา : "จาก หัวเฉียว สู่ ซินอี๋หมิน" ชาวจีนโพ้นทะเลใหม่ในแผ่นดินสยาม เพื่อเล่าถึงพัฒนาการของการย้ายถิ่นฐาน การเดินทางมาพำนักอาศัย ทั้งระยะสั้น ระยะยาว รวมทั้งการมาทำธุรกิจ เล่าเรียนหรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ในเมืองไทย โดยมีวิทยากรร่วมเสวนา ประกอบด้วยรองศาสตราจารย์ วรศักดิ์ มหัทธโนบล ที่ปรึกษาศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยากรในรายการ “มองจีนมุมใหม่” ทางไทยพีบีเอสพอดคาสต์ เจ้าของงาน วิจัยเรื่องชาวจีนอพยพใหม่ในประเทศไทย, อาจารย์ สมชาย แซ่จิว นักประวัติศาสตร์ด้านวัฒนธรรมจีน เจ้าของผลงานเขียนอย่าง แต้จิ๋ว แต่แจ๋ว และ มังกรสยายเกล็ด รวมไปถึงนักวิชากรด้านจีนศึกษารุ่นใหม่ อาจารย์อุษณีษ์ เลิศรัตนานนท์ จาก วิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
จีนในยุคใหม่มีความเหมือนหรือแตกต่างจากจีนยุคก่อนอย่างไร คนรุ่นเสื่อผืนหมอนใบ เดินทางมาแสวงโชคและหาโอกาสใหม่ของชีวิต หนีจากสงครามกลางเมืองและความยากจน มาตั้งรกรากจนกลายเป็นบรรพบุรุษของชาวไทยหลายๆ ครอบครัวในเวลานี้ แต่คนจีนยุคใหม่เดินทางมาเมืองไทยด้วยเป้าหมายแตกต่างไปจากเดิม ถ้าทำธุรกิจก็จะมาพร้อมเงินทุนที่พรั่งพร้อมและกลายเป็นความได้เปรียบในเชิงการค้า เกิดธุรกิจการศึกษาที่ลูกค้าหลักคือชาวจีน ยังมีข่าวอาชญากรรมทุนจีนสีเทาที่กลายเป็นปัญหาร่วมของหลายชาติ
ขณะนี้ ชาวจีนรุ่นใหม่เข้ามาอาศัยในไทยไม่น้อยกว่า 77,000 คน คนจีนนำเงินมาลงทุนในไทยมากกว่า 45,000 ล้านบาท ประเทศไทยเป็นประเทศอันดับ 5 ที่คนจีนค้นหาเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์มากที่สุด โจทย์สำคัญสำหรับคนไทยคือ การทำความรู้จักและเข้าใจคนจีนยุคใหม่อย่างรอบด้านเพื่อการอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจและเท่าทัน
ภายในงานยังมีกิจกรรมทางวัฒนธรรมคือ การแสดงดนตรี กู่เจิ้งและซอ รวมถึงการสาธิตเขียนพู่กันจีน โดย รศ.เจี่ย ชิ่ง จากคณะมนุษยศาสตร์ อ.ประจำภาควิชาภาษาจีน ม.รามคำแหง เพื่อต้อนรับบรรยากาศการงานไหว้พระจันทร์และการเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง หรือ เทศกาล "จงชิว เจี่ย" ซึ่งตรงกับวันที่ 29 กันยายน 2566
ทั้งนี้ รัฐบาลไทยเพิ่งประกาศมาตรการ ฟรีวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีนตั้งแต่ 25 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมาแล้วจะสิ้นสุดในเดือน ก.พ. 2567 เป็นระยะเวลา 5 เดือน เพื่อหวังดึงดูดการท่องเที่ยวจากชาวจีน ซึ่งจะมีเทศกาลหยุดยาวนับสัปดาห์ สองช่วงสำคัญคือ วันชาติจีน (1 ต.ค.) และช่วงตรุษจีน