ข่าวและกิจกรรม / ไทยพีบีเอสพอดคาสต์ จัดโครงการปล่อยของ ลองเล่า Season 5 (สัญจรอีสาน) ตอน “เสียง เล่า เรื่อง”
ข่าวสาร
ไทยพีบีเอสพอดคาสต์ จัดโครงการปล่อยของ ลองเล่า Season 5 (สัญจรอีสาน) ตอน “เสียง เล่า เรื่อง”
07 ส.ค. 66
1,404

ไทยพีบีเอสพอดคาสต์ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการ “ปล่อยของ ลองเล่า” Season 5 สัญจรมหาวิทยาลัยในพื้นที่ภาคอีสาน 2 จังหวัด ระหว่างวันที่ 22-23 กรกฎาคม 2566 เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาได้รู้จักและเรียนรู้ทักษะสำคัญในการผลิตสื่อเสียง ภายใต้หัวข้อ “เสียง เล่า เรื่อง”

ฝ่ายสื่อเสียง สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส ได้จัดทำโครงการ “ปล่อยของ ลองเล่า” เป็นรุ่นที่ 5 โดยสัญจรจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับนักศึกษาในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 จังหวัด คือ มหาสารคามและกาฬสินธุ์ ซึ่งมีเครือข่ายสถาบันการศึกษาที่มีคณาจารย์ผู้สอนด้านสื่อสารมวลชนที่มีศักยภาพ และทำงานร่วมกับไทยพีบีเอสมาอย่างต่อเนื่อง จึงเกิดเป็นความร่วมมือในการส่งเสริมการเรียนรู้ของนักศึกษาให้มีทักษะเรื่องการผลิตผลงานสื่อเสียงที่มีคุณภาพ และพัฒนาสู่การเป็นผู้ผลิตรายการร่วมกับไทยพีบีเอสพอดคาสต์ในอนาคต

อาจารย์ ดร.อรทัย สุทธิ อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามกล่าวว่า ปัจจุบันสื่อพอดคาสต์มาแรงมาก การรับสื่อของคนในปัจจุบันไม่ใช่แค่สื่อวีดีโออย่างเดียว แต่คนนิยมฟังพอดคาสต์มากขึ้น ในฐานะอาจารย์ผู้สอน การพานิสิตเข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ถือเป็นประโยชน์มาก เพราะนิสิตได้เรียนรู้หลักการผลิตสื่อพอดคาสต์และเรื่องการใช้เสียง

อาจารย์ ดร.อรทัย สุทธิ

สอดคล้องกับ อาจารย์ธีรนันท์ ขันตี อาจารย์ประจำสาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์กล่าวว่า ปัจจุบันโลกการสื่อสารเปลี่ยนไป Digital Disruption ทำให้วงการสื่อปั่นป่วน เกิดช่องทางการสื่อสารใหม่ ๆ พอดคาสต์เป็นอีกหนึ่งช่องทางใหม่ การที่เด็กมีโอกาสได้เรียนรู้การผลิตสื่อจากมืออาชีพ จะทำให้เขามีวิธีคิดเรื่องการเล่าเรื่อง การใช้เสียงอย่างไรให้เห็นภาพ

“ถ้าเป็นสื่อวีดีโออาจเล่าง่ายเพราะเห็นภาพ แต่การเล่าผ่านเสียงนั้นมีเสน่ห์อีกแบบหนึ่งคือ จะทำอย่างไรให้คนที่ไม่เห็นภาพเขาจินตนาการตามได้ เด็กบางคนอาจไม่ได้ถนัดเรื่องงานวีดีโอ แต่ถนัดเรื่องการใช้จินตนาการหรือการใช้เสียง ก็สามารถนำไปต่อยอดในการเรียนและการทำงานได้”

 

อาจารย์ธีรนันท์ ขันตี

อาจารย์จำลองลักษณ์ เสียงสนั่น อาจารย์ประจำสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย คณะศึกษาศาสตร์และนวัตกรรมการศึกษา มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์กล่าวว่า การอบรมครั้งนี้มีประโยชน์สำหรับครูปฐมวัย เนื่องจากสื่อการสอนส่วนใหญ่จะเป็นสื่อทำมือ ครั้งนี้นักศึกษาได้เรียนรู้การนำเสนอที่หลากหลาย สามารถนำไปผลิตเป็นนิทานเสียงได้ ไม่ใช่เฉพาะกับเด็กปฐมวัยอย่างเดียว คณะฯ สอนเรื่องการศึกษาพิเศษด้วย อาจจะให้เด็กพิเศษได้ฟังเสียงเพื่อให้เกิดการเรียนรู้

อาจารย์จำลองลักษณ์ เสียงสนั่น

กิจกรรมในครั้งนี้มีนักศึกษาจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และคณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม รวมถึงคณะศิลปะศาสตร์ และคณะศึกษาศาสตร์และนวัตกรรมการศึกษา มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เข้าร่วมโครงการกว่า 200 คน เพื่อเรียนรู้กระบวนการผลิตสื่อเสียง โดยมีเนื้อหาเรื่องการออกแบบรายการพอดคาสต์ที่มีรูปแบบแตกต่างหลายหลาย ทักษะการใช้เสียงเพื่อสร้างสรรค์ตัวละคร และให้นักศึกษาได้ทดลองออกแบบรายการพอดคาสต์เพื่อทดลองผลิตจริง หลังจากนั้นจะนำมาเผยแพร่ทางเว็บไซต์และ แอปพลิเคชันของไทยพีบีเอสพอดคาสต์ ซึ่งการอบรมในครั้งนี้นักศึกษาสามารถนำองค์ความรู้ไปต่อยอดในการเรียนหรือประกอบอาชีพในอนาคตได้

นางสาวชลันธร สืบสุนทร นิสิตสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามกล่าวว่า เธอชอบฟังพอดคาสต์มาก เรียกว่าเป็น Podcast Lover การได้มาอบรมในครั้งนี้ถือว่าเปิดโลกกว้างสำหรับตัวเอง

“ได้ฝึกเรื่องความคิดสร้างสรรค์ การพากย์เสียงและการลงเสียงให้เข้ากับตัวละคร การสื่ออารมณ์ ความรู้สึกต่าง ๆ หนูเรียนเกี่ยวกับการผลิตพอดคาสต์ ก็จะนำเอาความรู้ในครั้งนี้ไปต่อยอดในเรื่องการทำพอดคาสต์ต่อไป”

 

นางสาวชลันธร สืบสุนทร

นายกฤษฎา โคตรโยธา นิสิตสาขานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า การอบรมในครั้งนี้ได้ความรู้เยอะมาก ตั้งแต่กระบวนการคิด การผลิต และได้ทดลองทำจริง นอกจากนี้ยังได้รู้เทคนิคต่าง ๆ ที่ตนไม่เคยรู้มาก่อน แม้ว่าจะยังไม่ได้เรียนในรายวิชาโดยตรงในเทอมที่ผ่าน ๆ มา แต่ได้มารู้ก่อนก็ถือเป็นการเตรียมความพร้อมที่จะไปเรียนเอกของตัวเอง

นายกฤษฎา โคตรโยธา

นางสาวทิตยาภรณ์ เงินพูล นักศึกษาสาขานิเทศศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ได้เรียนรู้เรื่องการทำพอดคาสต์ ตั้งแต่การเริ่มต้นคิดประเด็น รวมถึงการใช้เสียงในสื่ออย่างไรให้เหมาะสม เธอรู้สึกชอบที่ให้ทดลองออกแบบผลิตชิ้นงาน เพราะทำให้รู้จักการทำงานเป็นขั้นเป็นตอน จนกว่าจะผลิตเป็นชิ้นงานออกมาได้ 

นางสาวทิตยาภรณ์ เงินพูล

นางสาวนภาทิพย์ แสงจันทร์ลอย นักศึกษาสาขาการศึกษาปฐมวัย คณะศึกษาศาสตร์และนวัตกรรมการศึกษา มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ได้เรียนรู้สิ่งใหม่คือการใช้เสียงพากย์บทต่าง ๆ ก็จะนำมาปรับใช้ในการเรียนและการทำงาน เพราะต้องผลิตสื่อการสอนที่สอนเด็กอนุบาลอยู่แล้ว

นางสาวนภาทิพย์ แสงจันทร์ลอย

โครงการ “ปล่อยของ ลองเล่า” ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2563 จัดการอบรมให้กับสถาบันการศึกษาจากทั่วประเทศกว่า 60 แห่ง และมีผลงานการทดลองผลิตพอดคาสต์ของนักศึกษากว่า 315 ชิ้น สามารถติดตามผลงานของนักศึกษาได้ทางเว็บไซต์ของไทยพีบีเอสพอดคาสต์ www.thaipbspodcast.com และแอปพลิเคชัน Thai PBS Podcast

แผ่นเสียง แผ่นเสียง
กำลังออกอากาศ ไม่มีการออกอากาศ แผ่นเสียง Radio แผ่นเสียง Podcast เล่นแผ่นเสียง พักแผ่นเสียง
คลิปเสียงถัดไป