ข่าวและกิจกรรม / ไทยพีบีเอสพอดคาสต์ ร่วมประชุม ABU Radio Asia Conference 2022 และ Radiodays ASIA 2022 ที่ประเทศมาเลเซีย
Thai PBS Radio
ไทยพีบีเอสพอดคาสต์ ร่วมประชุม ABU Radio Asia Conference 2022 และ Radiodays ASIA 2022 ที่ประเทศมาเลเซีย
12 ก.ย. 65
818

สหภาพการกระจายเสียงเอเชียแปซิฟิก หรือ Asia – Pacific Broadcasting Union (ABU) จัดการประชุม Radio Asia 2022 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งไทยพีบีเอสพอดคาสต์ได้ส่งผู้แทนไปร่วมการประชุมด้วย โดยปีนี้มีหัวข้อเรื่อง Smart, Social and Everywhere. Building a new future for radio การประชุมมีขึ้นระหว่างวันที่ 4 - 5 กันยายน 2565 จากนั้นจะเป็นการประชุม Radiodays ASIA 2022 ซึ่ง ABU ก็เป็นองค์กรร่วมจัดด้วย ระหว่างวันที่ 6 - 7 กันยายน 2565

การพูดคุยในหัวข้อ "Social Media and Platforms - what's hot and what's not"

ในวันแรก (4 ก.ย. 2565) จะเป็นการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ซึ่งมีวิทยากรมาให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการสร้างสื่อเสียงข้ามพื้นที่ มีส่วนผสมผสานสื่อรูปแบบอื่น ๆ ประกอบด้วย เช่น ภาพนิ่ง การ์ตูน ในกรณีที่การสื่อสารมีข้อจำกัดเรื่องการใช้ภาพเคลื่อนไหว โดยยังคงเน้นให้ความสำคัญในการสื่อสารเรื่องเสียง อาทิ รายการสารคดีเสียงหรือละครเสียง ซึ่งต้องใช้การนำเสนอเนื้อหาสำคัญคือ "การเล่าเรื่อง"

เสวนาหัวข้อ Connecting with ALL your listeners โดย Jon Bisset (Cheif Executive Officer, CBAA) 

นอกจากนี้ยังมีเวทีเสวนาเกี่ยวกับความท้าทายใหม่ เพื่อนำเสนอเนื้อหาด้านเสียงบนสื่อรูปแบบใหม่ ๆ เช่น สื่อออนไลน์ ซึ่งผู้ผลิตสื่อต้องปรับตัวไปตามเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีกรณีศึกษาจากสื่อสาธารณะจากประเทศออสเตรเลีย เช่น ABC Radio Australia, All in Media (AIM) และ Community Broadcasting Association of Australia (CBAA) เป็นต้น

ABU เป็นองค์กรด้านสื่อกระจายเสียงและภาพระหว่างประเทศ มีสมาชิก 256 องค์กรจาก 69 ประเทศ ทั้งในชาติเอเชีย ตะวันออกกลาง ยุโรป แอฟริกาเหนือและอเมริกาเหนือ ก่อตั้งมาตั้งแต่ ค.ศ. 1964 ไทยพีบีเอส ซึ่งเป็นสื่อสาธารณะของไทยก็เป็นหนึ่งในสมาชิกของ ABU ด้วย

ถัดจากนั้น มีการประชุม Radiodays Asia 2022 Sound of the Future ระหว่างวันที่ 6-7 กันยายน 2565 ต่อเนื่อง มีแลกเปลี่ยนมุมมองและความเห็นระหว่างคนทำงานด้านวิทยุและสื่อเสียงในรูปแบบต่าง ๆ โดยวิทยากรมาจากหลากหลายประเทศ อาทิ  นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ญี่ปุ่น  อินเดีย มาเลเซีย  เวียดนาม ฯลฯ  พร้อมยกตัวอย่างรายการที่ประสบความสำเร็จและนำเทคนิคการผลิตงานสื่อเสียงที่น่าสนใจมาแนะนำด้วย

นอกจากนี้ยังมีหัวข้อที่กล่าวถึงการเชื่อมต่อเทคโนโลยีใหม่เพื่อให้เป็นสื่อกลางนำเนื้อหาสื่อเสียงไปสู่คนฟังอย่างกว้างขวาง รวดเร็วและทั่วถึง อาทิ การเชื่อมรายการวิทยุเข้ากับอุปกรณ์อัจฉริยะต่าง ๆ เช่น Smart Speakers หรือการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์การฟังภายในรถยนต์ และยังมีการใช้เทคโนโลยีเพื่อแปลงเสียงเป็นตัวอักษรและแปลงอักษรเป็นเสียง (Text to Speech - Speech to Text) อำนวยความสะดวกให้กับผู้ฟังกลุ่มต่าง ๆ รวมทั้งคนตาบอดและคนหูหนวกและการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีใช้ภาพเคลื่อนไหวเป็นส่วนเสริมให้กับผู้ฟังคือ Video Podcast แต่ยังเน้นการสื่อสารเนื้อหาหลักเป็นเสียง

Harry Lock, โสภิต หวังวิวัฒนา, Richard Sutherland และ David Hua
ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อ "อนาคตของสื่อสาธารณะ" (The Future of Public Media)

ไทยพีบีเอสพอดคาสต์ มี นางสาวโสภิต หวังวิวัฒนา ผู้จัดการฝ่ายสื่อเสียงเป็นตัวแทนสื่อสาธารณะไทยแลกเปลี่ยนความเห็นด้วย ในหัวข้อ "อนาคตของสื่อสาธารณะ" (The Future of Public Media) ร่วมกับ Richard Sutherland (Head of News, Radio New Zealand) และ David Hua (Director of Audio and Language Content, SBS, Australia) ดำเนินรายการโดย Harry Lock (Editorial Manager, Public Media Alliance, UK)

จากการหารือพบว่าสื่อสาธารณะจากหลายประเทศมีสถานการณ์ความคล้ายคลึงกัน เพราะความท้าทายที่สำคัญคือการบริหารงานภายใต้งบประมาณจำกัด และต้องปรับตัวพยายามเข้าถึงคนรุ่นใหม่ที่เป็นเป้าหมายสำหรับสื่อเสียงใหม่ ๆ เช่น พอดคาสต์ ให้ได้ ในเวลาเดียวกันก็ต้องบริหารความคาดหวังจากคนฟังรุ่นเก่าไปด้วย ช่วง 5 ปีจากนี้ไปจะเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของคนผลิตสื่อเสียงทั้งวิทยุและพอดคาสต์ รวมทั้งพฤติกรรมของผู้ฟังก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย

แผ่นเสียง แผ่นเสียง
กำลังออกอากาศ ไม่มีการออกอากาศ แผ่นเสียง Radio แผ่นเสียง Podcast เล่นแผ่นเสียง พักแผ่นเสียง
คลิปเสียงถัดไป