ข่าวและกิจกรรม / ชวนฟัง หนังสือเสียง“นิทานเวตาล” และ “จดหมายจางวางหร่ำ” ในรายการ “ห้องสมุดหลังไมค์” ทางไทยพีบีเอสพอดคาสต์
ชวนฟัง หนังสือเสียง“นิทานเวตาล” และ “จดหมายจางวางหร่ำ” ในรายการ “ห้องสมุดหลังไมค์” ทางไทยพีบีเอสพอดคาสต์
22 พ.ย. 64
1,363

ฝ่ายสื่อเสียง สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส ได้รับความอนุเคราะห์จากหม่อมราชวงศ์แซมแจ่มจรัส รัชนี ทายาทของพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ หรือที่รู้จักในนามปากกา น.ม.ส. อนุญาตให้นำผลงานบทพระนิพนธ์ของ น.ม.ส. มาผลิตเป็นหนังสือเสียง เผยแพร่ในรายการ “ห้องสมุดหลังไมค์” ได้แก่นิทานเวตาลและจดหมายจางวางหร่ำ นอกจากนี้ยังมี ประมวลนิทานของ น.ม.ส. ที่อยู่ระหว่างการวางแผนผลิตเพื่อเผยแพร่ต่อไป

พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ มีพระนามเดิมว่า พระบวรวงศ์เธอพระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส และทรงใช้พระนามแฝงในการนิพวรรณกรรมว่า "น.ม.ส." ซึ่งมาจากตัวอักษรท้ายคำของชื่อ รัชนี / แจ่ม / จรัส ทรงมีผลงานชิ้นสำคัญมากมาย อาทิ ประมวลนิทานของ น.ม.ส., จดหมายจางวางหร่ำ, นิทานเวตาล, บทร้อง"อโหกุมาร" และ เสภาสภา เป็นต้น

---------------------------------------

  "นิทานเวตาล" เป็นเรื่องราวของ พระเจ้าวิกรมาทิตย์  ซึ่งต้องเดินทางไปนำตัว “เวตาล” จากต้นอโศกกลับมาให้โยคีเพื่อนำมาประกอบพิธี โดยมีข้อแม้ว่าตลอดการเดินทางพระองค์ต้องห้ามพูดหรือตอบโต้ใดๆ ไม่เช่นนั้นเวตาลก็จะกลับไปยังต้นอโศกเช่นเดิม ระหว่างทางเวตาลก็พยายามหน่วงเหนี่ยวโดยเล่านิทานเรื่องต่างๆ พร้อมตั้งคำถามเพื่อหลอกล่อให้ตอบจนได้นิทานมากถึง 24 เรื่อง พระเจ้าวิกรมาทิตย์ไม่ย่อท้อ อดทนและเพียรไปเอาตัวเวตาลกลับมาครั้งแล้วครั้งเล่าจนประสบความสำเร็จ

   นิทานเวตาลหรือเวตาลปัญจวิงศติเป็นนิทานของอินเดียที่ได้รับยกย่องให้เป็นวรรณกรรมอมตะของโลกเรื่องหนึ่งที่โดดเด่นจนกระทั่งถูกนำไปแปลเป็นภาษาต่างๆ มากมาย วรรณกรรมเรื่องนี้แฝงปรัชญาและแนวคิดที่มีคุณค่าทั้งด้านคุณธรรม จริยธรรมและการดำเนินชีวิต  

พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ทรงเป็นผู้แปลฉบับภาษาไทยโดยอ้างอิงจากต้นฉบับภาษาอังกฤษของเซอร์ริชาร์ด เบอร์ตัน จำนวน 10 ตอน จากทั้งหมด 25 ตอน พระองค์ทรงใช้สำนวนการแปลร้อยแก้วได้อย่างมีอรรถรสและสละสลวย  จนกล่าวได้ว่าเป็นผลงานวรรณกรรมทรงคุณค่าเรื่องหนึ่งที่สามารถต้นแบบของการใช้ภาษาไทยได้เป็นอย่างดี

จดหมายจางวางหร่ำ ผลงานชิ้นนี้ น.ม.ส. ใช้กลวิธีการเขียนเป็นร้อยแก้วในรูปแบบการเขียนจดหมายจากพ่อส่งถึงลูกชื่อนายสนธิ์เพื่ออบรมสั่งสอน ชี้แนะแนวทางหลักการใช้ชีวิตและการทำงาน โดยเป็นการเขียนฝ่ายเดียวจากพ่อ จดหมายฉบับที่ 1-4 เขียนถึงลูกชายขณะที่เรียนอยู่ที่ประเทศอังกฤษ จดหมายฉบับที่ 5-7 เขียนถึงนายสนธิ์เมื่อเดินทางกลับมายังกรุงเทพฯ แล้ว โดยสอดแทรกเนื้อหาสาระและอารมณ์ขันอยู่ในเรื่อง

กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ นิพนธ์จดหมายจางวางหร่ำในฐานะบรรณาธิการชั่วคราว วรรณกรรมในรูปแบบจดหมายนี้ถือว่าเป็นการสร้างสรรค์ผลงานเขียนแบบแปลกใหม่ในเวลานั้น ลงตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ในหนังสือ ทวีปัญญา  ติดต่อกันเดือนละฉบับ รวม  6 ฉบับ ต่อมาเมื่อหนังสือ “ทวีปัญญา” เลิกกิจการ พระองค์ก็ทรงนำฉบับที่ 7  เผยแพร่ในหนังสือ “เสนาศึกษา”  แล้วมีการตีพิมพ์รวมเล่มครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.  2478  

แผ่นเสียง แผ่นเสียง
กำลังออกอากาศ ไม่มีการออกอากาศ แผ่นเสียง Radio แผ่นเสียง Podcast เล่นแผ่นเสียง พักแผ่นเสียง
คลิปเสียงถัดไป