บทความ / วันสำคัญของคนพิการ
Family
วันสำคัญของคนพิการ
03 ธ.ค. 65
1,637
รูปภาพในบทความ วันสำคัญของคนพิการ

การมี วันสำคัญของคนพิการ ถือเป็นการรณรงค์ส่งเสริมให้คนตระหนักถึงการอยู่ร่วมกันกับคนพิการ หรือรำลึกถึงบุคคลสำคัญผู้ริเริ่มให้เกิดนวัตกรรมหรือการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้คุณภาพชีวิตของคนพิการดีขึ้น ไทยพีบีเอสพอดคาสต์ พาคุณย้อนดูช่วงวันและเวลาตลอดทั้งปี ที่มีประวัติศาสตร์ของ คนพิการ แต่ละประเภทที่ซ่อนอยู่ในวันสำคัญต่าง ๆ แล้วคุณอาจพบว่า วันธรรมดาของคุณมีความหมายกว่าที่คิด

4 มกราคม วันอักษรเบรลล์โลก ถือเป็นวันที่สำคัญสำหรับผู้พิการทางสายตาที่ทำให้พวกเขาได้มองเห็นโลกที่กว้างขึ้นผ่านตัวอักษรจุดนูนบนกระดาษ ที่ต้องใช้ปลายนิ้วมือสัมผัสในการอ่าน ซึ่งถูกคิดค้นโดย หลุยส์ เบรลล์ ครูตาบอดชาวฝรั่งเศส เขาคิดค้นอักษรเบรลล์โดยนำวิธีการส่งข่าวของทหารในเวลากลางคืนที่เรียกว่า night-writing ซึ่งเป็นรหัสจุด 12 จุด แต่ปรับให้เหลือเพียง 6 จุด และใช้นิ้ววางบนจุดทั้งหมดเวลาอ่าน ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ผู้พิการทางสายตาสามารถสื่อสารผ่านอักษรเบรลล์มาจนปัจจุบัน

1 มีนาคม วันวีลแชร์สากล (International Wheelchair Day) วันที่เรารำลึกถึงความสำคัญของ "วีลแชร์" ที่พาคนพิการด้านร่างกายออกเดินทางสู่โลกกว้าง จุดเริ่มต้นของวันวีลแชร์สากล คือ มีคนพิการด้านร่างกายท่านหนึ่งที่เคยเดินได้ปกติ แต่แล้ววันหนึ่งเขาสูญเสียการทรงตัวจนต้องใช้วีลแชร์ในการดำเนินชีวิต เขาจึงคิดว่า "วีลแชร์" นั้นสำคัญมาก ๆ สำหรับคนพิการด้านร่างกาย เพราะมันทำให้พวกเขาได้ออกเดินทางไปเห็นโลกกว้าง

เขาจึงเลือกวันเกิดของแม่เป็นวัน Wheelchair Day เพราะแม่ของเขาคือผู้ให้กำเนิดและเป็นคนพาเขาออกไปเห็นโลกกว้าง จึงชวนคนพิการที่นั่งวีลแชร์มารวมตัวกัน เพื่อส่งเสียงให้ผู้คนเห็นความสำคัญของวีลแชร์ เพราะมีคนเดินไม่ได้อีกมากมายบนโลกนี้โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนาที่เข้าไม่ถึงวีลแชร์ จึงอยากรณรงค์ให้คนเห็นความสำคัญและอยากให้คนพิการเข้าถึงวีลแชร์ได้มากขึ้นด้วย

2 เมษายน วันตระหนักรู้โรคออทิสติกโลก (World Autism Awareness Day) ซึ่งกำหนดขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ สนับสนุนให้สังคมเกิดความเข้าใจและการยอมรับของบุคคลที่เป็นออทิสติก ส่งเสริมให้ผู้ป่วยออทิสติกมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีสิทธิเท่าเทียมกับคนอื่น ๆ และสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข

นอกจากนี้ ในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี ยังได้กำหนดให้มี วันแห่งการรณรงค์ส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลและความเท่าเทียมสำหรับผู้พิการทั่วโลก (Global Accessibility Awareness Day) อีกด้วย

23 สิงหาคม วันภาษามือสากล (International Day of Sign Languages) ถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้เราตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ภาษามือและสิทธิมนุษยชนของคนหูหนวก ปัจจุบันมีภาษามือกว่า 300 ภาษาที่ใช้อยู่ตอนนี้

15 ตุลาคม วันไม้เท้าขาวสากล (White Cane Safety Day) เป็นวันที่กระตุ้นเตือนให้สังคมโลกตระหนักและส่งเสริมศักยภาพของคนพิการทางสายตา และเห็นถึงความสำคัญของไม้เท้าขาวที่พาคนพิการทางสายตาออกสู่โลกกว้าง

3 ธันวาคม วันคนพิการสากล ถูกกำหนดขึ้นเพื่อส่งเสริมความเข้าใจปัญหาความพิการและการระดมการสนับสนุนสำหรับศักดิ์ศรี สิทธิและความเป็นอยู่ดีของผู้พิการ นอกจากนี้ ยังมุ่งเพิ่มความตระหนักถึงประโยชน์ที่จะได้จากการรวมผู้พิการเข้ากับทุกแง่มุมของชีวิตการเมือง สังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม แต่ละปีจะเน้นปัญหาต่างกัน

12 ธันวาคม วันรำลึกมิสเจเนวีฟ คอลฟิลด์ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดแห่งแรกแห่งประเทศไทย นับเป็นโรงเรียนสอนเด็กพิการแห่งแรกในประเทศไทย และแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้เขายังเป็นผู้ที่นำอักษรเบรลล์เข้ามาใช้ในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี 1939 โดยร่วมกับนายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว ในการกำหนดโค้ดอักษรเบรลล์ไทยขึ้น ประกอบด้วยพยัญชนะต้น สระ วรรณยุกต์ และตัวสะกด ก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงในเวลาต่อมา

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องราวอีกหลากหลายแง่มุมเกี่ยวกับคนพิการ โดยสามารถติดตามฟังได้ในรายการ เพื่อนสนิท ตอน "วันสำคัญของคนพิการ" นาฬิกาแห่งการรำลึกและการริเริ่ม ทาง website | Apple Podcast | Spotify

แผ่นเสียง แผ่นเสียง
กำลังออกอากาศ ไม่มีการออกอากาศ แผ่นเสียง Radio แผ่นเสียง Podcast เล่นแผ่นเสียง พักแผ่นเสียง
คลิปเสียงถัดไป