บทความ / Burning Symphony ผลงานที่สร้างสรรค์จากการทำลาย
Music
Burning Symphony ผลงานที่สร้างสรรค์จากการทำลาย
25 ก.พ. 64
2,648
รูปภาพในบทความ Burning Symphony ผลงานที่สร้างสรรค์จากการทำลาย

จะมีสักกี่ครั้งในชีวิตที่เราจะได้ยินเสียงจากเครื่องดนตรีซึ่งกำลังถูกเปลวไฟแผดเผา..หรือเสียงการบรรเลงในขณะที่เครื่องดนตรีกำลังลุกไหม้..

หลุย ปิยวัฒน์ หลุยลาภประเสริฐ นักประพันธ์รุ่นใหม่ไฟแรง ว่าที่ดอกเตอร์สาขาการประพันธ์เพลงจากมหาวิทยาลัย Cornell ประเทศสหรัฐอเมริกา ร่วมกับ ‘The Face Shield BKK’  กลุ่มศิลปินชาวไทยที่มีผลงานด้านศิลปะดิจิทัลและมัลติมีเดียได้แสดงให้เห็นถึงพลังความคิดสร้างสรรค์ที่หลุดออกจากกรอบของคำว่า “ศิลปะ” แบบที่คนทั่วไปคุ้นเคยกัน โดยนำเสนอผลงานซึ่ง ผสานศิลปะหลากหลายแขนงเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นดนตรีคลาสสิกแบบดั้งเดิม ดนตรีไฟฟ้าซึ่งมีความทันสมัย ดนตรีทดลองรูปแบบใหม่ การสร้างเสียงจากวัสดุที่พบได้ทั่วไปผ่านเทคนิคการด้นสด รวมไปถึงการสร้างภาพประกอบ จนก่อกำเนิดเป็นชิ้นงานที่แปลกใหม่

            “Burning Symphony” เป็นผลงานการสร้างสรรค์ภาพยนตร์สั้นที่ประกอบไปด้วยภาพ เสียง และการแสดง นำเสนอแนวคิดมุมมองทางดนตรีที่แตกต่าง

หากคุณคิดว่ามนุษย์คือผู้สร้างเสียงผ่านเครื่องดนตรีบทประพันธ์ชิ้นนี้กลับให้ความหมายอีกแบบ  

เมื่อเครื่องดนตรีเปล่งเสียงกรีดร้องออกมาด้วยตัวของมันเอง โดยมี ‘ไฟ’ เป็นตัวกระตุ้นให้เสียงเหล่านั้นดังขึ้น 

“ไฟ” และความร้อน ทำให้โครงสร้างของการเกิดเสียงเปลี่ยนแปลงไปจากขนบเดิมที่ผู้คนคุ้นเคย

“ไฟ” ทำให้เครื่องดนตรีสร้างความหมายใหม่ในการมีตัวตน

หากกล่าวถึงซิมโฟนีหลายท่านจะคุ้นเคยกับบทเพลงซึ่งถูกบรรเลงโดยวงออร์เคสตราขนาดใหญ่ ประกอบไปด้วยเครื่องดีด สี ตีเป่า ตามธรรมเนียมดั้งเดิม มีโครงสร้างทางดนตรีแบ่งออกเป็น 4 ท่อน เร็ว ช้า สลับกันไป แต่ Burning Symphony จะไม่ได้มีองค์ประกอบของเครื่องดนตรีจำนวนชิ้นมากเทียบเท่าวงขนาดใหญ่และไม่ได้ถูกบรรเลงในหอแสดงอันเลื่องชื่อแต่ก็มีการใช้รูปแบบการแบ่งท่อนดนตรีตามมาตรฐานเหมือนกับซิมโฟนีทั่วไปนอกจากนี้ยังใช้กระบวนการบรรเลงที่หลากหลาย ซับซ้อน ซ่อนความหมายอันลึกซึ้ง คาดไม่ถึงในทุกรายละเอียด 

Burning Symphony

ท่อนที่ 1 รื้อถอนทำลาย: เครื่องดนตรีจุดไฟลุกโหม บรรเลงเสียงแห่งการมอดไหม้ รื้อถอนทำลายตัวเอง

ท่อนที่ 2 ถอนรากถอนโคน: พิธีกรรมกล่าวอำลาวัฒนธรรมแบบเดิม ๆ ที่เคยหยั่งลึกมาเนิ่นนาน

ท่อนที่ 3 ก่อร่างสร้างตัว: เศษเถ้าถ่านถูกประกอบกลับขึ้นมาใหม่เพื่อค้นหาความหมายอีกครั้ง

ท่อนที่ 4 มอบชีวิตใหม่: เครื่องดนตรีกลับฟื้นคืนชีพ ถูกบูรณะอย่างเสร็จสมบูรณ์ในรูปแบบใหม่

“Burning Symphony” คือตัวอย่างของศิลปะสมัยใหม่ซึ่งตอบโจทย์โลกที่มีทางเลือกหลากหลายในยุคนี้เปิดกว้างเพื่อมอบโอกาสในการสร้างจินตนาการและให้อิสรภาพทางความคิดแก่มนุษย์แบบไร้ขีดจำกัด

สำหรับผู้สร้าง ซึ่งเน้นไปที่กระบวนการคิด ผลิต ทดลอง พิสูจน์เป้าหมายของการรังสรรค์ผลงานเผชิญผลลัพธ์ที่ไม่อาจคาดเดาได้ และไม่มีที่สิ้นสุด

สำหรับผู้เสพ ไม่จำเป็นจะต้องมีความรู้พื้นฐานไม่ได้ต้องการความเข้าอย่างลึกซึ้งถ่องแท้แต่สามารถรับรู้ได้ด้วยการเข้าไปสัมผัสโดยตรง นำตัวเองเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมนั้นๆ

 

“ผมอยากให้นึกถึงหนังอย่างเรื่อง Tenet หรือ James Bond ที่เอารถหรู ๆหรือเครื่องบินมาระเบิดเพื่อให้ได้ฉากที่ดีที่สุด การที่ผมนำเครื่องดนตรีมาเผาเองก็เช่นกัน ผมไม่อยากให้มองว่ามันเป็นการกระทำที่รุนแรง อยากให้ทุกคนเปิดใจแล้วมองว่ามันเป็นศิลปะ”

- หลุย ปิยวัฒน์ หลุยลาภประเสริฐ -

 

...แล้วคุณล่ะ เปิดใจหรือยัง? ฟังเรื่องราวของ "Burning Symphony" เต็มๆ ได้ในรายการ Gen Z & Classical Music ตอน นักประพันธ์ไทย ผู้ข้ามผ่านกฎเกณฑ์การแต่งเพลง 

Website |  http://bit.ly/3631YcF

Application | Thai PBS Podcast >> https://bit.ly/3oapIlo

ข้อมูลโดย: ณัฏฐา ควรขจร และ ปิยวัฒน์ หลุยลาภประเสริฐ
เรียบเรียงโดย: จิตริน เมฆเหลือง และ ณัฏฐา ควรขจร
แผ่นเสียง แผ่นเสียง
กำลังออกอากาศ ไม่มีการออกอากาศ แผ่นเสียง Radio แผ่นเสียง Podcast เล่นแผ่นเสียง พักแผ่นเสียง
คลิปเสียงถัดไป