บทความ / โครงการยานอวกาศสู่ดวงจันทร์สัญชาติไทยไปถึงไหนแล้ว?
Sci & Tech
โครงการยานอวกาศสู่ดวงจันทร์สัญชาติไทยไปถึงไหนแล้ว?
08 ม.ค. 66
3,910
รูปภาพในบทความ โครงการยานอวกาศสู่ดวงจันทร์สัญชาติไทยไปถึงไหนแล้ว?

หลังจาก ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยแผนโครงการ Thai Space Consortium (TSC) เพื่อสร้างยานอวกาศสัญชาติไทยไปยังดวงจันทร์ภายใน 7 ปี ในงาน "วัคชีนเพื่อคนไทย" เมื่อช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมา กลายเป็นประเด็นร้อนแรงทั้งในแวดวงวิทยาศาสตร์และประชาชนทั่วไป

เป็นที่น่าสนใจว่าในภายหลังการลงนามความร่วมมืออย่างเป็นทางการเมื่อเดือนเมษายนปี 2564 ข่าวคราวของโครงการนี้เงียบหายไปอย่างเห็นได้ชัดจากสื่อกระแสหลัก ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาในใจของใครหลายคนว่าโครงการนี้ดำเนินการไปถึงไหนแล้ว

ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ (กลาง) ลงนามความร่วมมือโครงการ Thai Space Consortium (TSC)
ร่วมกับ 12 หน่วยงาน ในเดือนเมษายนปี 2564 - Spaceth

ในระยะเวลากว่า 2 ปี นับตั้งแต่วันแถลงข่าวอย่างเป็นทางการจนถึงปัจจุบัน ได้มีโครงการย่อยสองโครงการของ TSC ได้แก่ TSC-P และ TSC-1 ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนวิจัยและสร้าง โดย TSC-P หรือ Pathfinder เป็นดาวเทียมทดสอบขนาดเล็กที่ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้ความร่วมมือกับ Changchun Institute of Optics and Fine Mechanics (CIOMP) ภายใต้ Chinese Academy of Sciences โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) ได้ส่งทีมวิศวกรไปทำงานร่วมกับ CIOMP ที่จีนเพื่อสร้างองค์ความรู้ในการสร้างดาวเทียมให้กับวิศวกรไทย โดยกระบวนการสร้างและปล่อยทั้งหมดจะดำเนินการอยู่ในประเทศจีน ซึ่งมีกำหนดการปล่อยภายในปี 2566 นี้

ในขณะเดียวกัน NARIT กำลังดำเนินการสร้างห้องประกอบดาวเทียมที่อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรองรับการผลิตดาวเทียมในประเทศไทยดวงต่อ ๆ ไป พร้อมกับการศึกษาวิจัยดาวเทียมดวงแรกที่จะถูกประกอบในห้องดังกล่าว ได้แก่ ดาวเทียม TSC-1เป็นดาวเทียมถ่ายภาพทางธรณีวิทยาและอุตุนิยมวิทยาที่จะโคจรในวงโคจรของโลก เพื่อเป็นการทดลองเทคโนโลยีดาวเทียมที่จะนำร่องไปสู่การสร้าง TSC-2 ที่จะเป็นดาวเทียมโคจรรอบดวงจันทร์ เบื้องต้น TSC-1 และ TSC-2 มีแผนกำหนดการปล่อยในปี 2568 และ 2570 ตามลำดับ

โครงสร้างของดาวเทียม TSC-1 - NARIT

ความคืบหน้าล่าสุดของโครงการ TSC-1 ในปัจจุบัน ทีมผู้ผลิตได้นำเสนอผลงานวิจัยในงานประชุมด้านอวกาศระดับนานาชาติครั้งใหญ่ประจำปี หรือ International Astronautical Congress 2022 ณ กรุงปารีส จำนวนหลายชิ้นตั้งแต่ในด้านการวิเคราะห์เชิงความร้อน (Thermal Analysis) ไปจนถึงการออกแบบสถาปัตยกรรมสำหรับดาวเทียมขนาดเล็ก

นอกจากโครงการ Thai Space Consortium แล้ว ยังมีโครงการอวกาศเกิดขึ้นอีกหลายโครงการในประเทศไทยทั้งจากภาครัฐและเอกชน เช่น THEOS-2 ของ Gistda และ KNACKSAT-2 ของ KMUTNB ที่จะถูกปล่อยภายในปีนี้เช่นเดียวกัน งานวิจัยด้านอาหารอวกาศของทีม KEETA ที่เพิ่งได้รับเลือกจากโครงการ Deep Space Food Challenge ของนาซ่า

ชวนฟังเพิ่มเติมได้ในพอดคาสต์ Starstuff เรื่องเล่าจากดวงดาว ตอน "จับตามองวงการอวกาศไทย"  ร่วมพูดคุยโดย เติ้ล ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน และ ปั๊บ ชยภัทร อาชีวระงับโรค

บทความอื่นๆ
แผ่นเสียง แผ่นเสียง
กำลังออกอากาศ ไม่มีการออกอากาศ แผ่นเสียง Radio แผ่นเสียง Podcast เล่นแผ่นเสียง พักแผ่นเสียง
คลิปเสียงถัดไป