บทความ / วันคุ้มครองผู้บริโภคไทย 30 เมษายน
เพื่อผู้บริโภค
วันคุ้มครองผู้บริโภคไทย 30 เมษายน
30 เม.ย. 64
4,397
รูปภาพในบทความ วันคุ้มครองผู้บริโภคไทย  30 เมษายน

สิทธิผู้บริโภคจากการซื้อขาย บริโภคสินค้าและบริการ  ต้องได้รับความคุ้มครอง
รู้หรือไม่ว่าคนไทยเรามีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค จากปัญหาการค้าขายที่ไม่เป็นธรรม
เรามี “สภาคุ้มครองผู้บริโภค” เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ

          เป็นเวลา 42 ปี แล้วที่เรามี “วันคุ้มครองผู้บริโภคไทย” ซึ่งกำหนดเป็นประจำวันที่ 30 เมษายน ของทุกปี นับตั้งแต่พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522  มีผลบังคับใช้
          พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 เป็นกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจากพฤติกรรมที่ไม่ตรงไปตรงมาของผู้ประกอบธุรกิจการค้า ที่ทำการตลาดและโฆษณาเชิญชวนให้ซื้อสินค้าหรือบริการไม่ถูกต้องเหมาะสม ทำให้ผู้บริโภคไม่ทราบข้อมูลทางการตลาดที่แท้จริง ทั้งเรื่องคุณภาพสินค้าและราคา 
          ใจความสำคัญของกฎหมายนี้ ครอบคลุมการมีคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อรับเรื่องราวร้องทุกข์ ช่วยเหลือผู้บริโภคที่มีปัญหา แจ้งข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าและบริการที่อาจก่อความเสียหายคุ้มครองทั้งด้านโฆษณา ฉลาก สัญญา ฯลฯ คณะกรรมการมีอำนาจให้มีการทดสอบ พิสูจน์สินค้าที่อาจเป็นอันตราย และมีคำสั่งห้ามขายสินค้าที่อาจเป็นอันตรายได้ 

          นอกจากนี้ ยังระบุถึงสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับความคุ้มครอง 5 ประการ ดังนี้
          1. สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้ง โฆษณา แสดงฉลาก คำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการเพื่อให้ไม่หลงผิดซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยไม่เป็นธรรม
          2. สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ โดยความสมัครใจของผู้บริโภคและปราศจากการชักจูงใจอันไม่เป็นธรรม
          3. สิทธิที่จะใช้สินค้าหรือบริการที่ปลอดภัย มีสภาพและคุณภาพได้มาตรฐานเหมาะสม ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สิน 
          4. สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญาโดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ
          5. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหายเมื่อผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิ


          แต่ในทางปฏิบัติ การจัดการแก้ปัญหาผู้บริโภคในไทยหลายประเด็นยังล่าช้า ผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิทั้งที่เป็นผู้จ่ายเงินซื้อสินค้าหรือบริการแต่กลับไม่ได้รับความคุ้มครองหากสินค้าหรือบริการที่ได้รับเกิดชำรุดบกพร่องเพราะขอบเขตการซื้อขายสินค้าบริการเปลี่ยนโฉมหน้าไปมาก  นอกจากสินค้าและบริการที่วางขายตามห้างร้าน ยังมีรูปแบบธุรกิจขายตรง  ขายออนไลน์ซึ่งผู้ซื้อไม่ได้เห็นสินค้าของจริง ทำให้เกิดปัญหาเช่น หลอกให้โอนเงินแต่ไม่ส่งสินค้า ส่งสินค้าไม่ตรงปก สินค้าชำรุดบกพร่อง ไม่รับคืนสินค้า ไม่คืนเงิน  เป็นต้น


          ผู้บริโภคที่ประสบปัญหา ยังมีความยากลำบากในการร้องเรียนเพื่อใช้กลไกรับความคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย เนื่องจากมีหลายหน่วยงานที่ดูแลแยกย่อยออกไปและใช้เวลานาน เช่น เรื่องการใช้บริการโทรศัพท์มือถือต้องร้องเรียนไปทั้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)  หรือการร้องเรียนปัญหารถยนต์ แม้บางบริษัทจะแก้ปัญหาด้วยการยืดอายุประกันการซ่อม แต่ไม่ได้แก้ไขที่ต้นเหตุ หากจะขอให้บริษัทซื้อคืนรถ ผู้บริโภคอาจต้องหาหน่วยงานกลางมาพิสูจน์ว่ารถที่ชำรุดเกิดจากการผลิตหรือจากการใช้งาน   


          เครือข่ายผู้บริโภคเห็นปัญหาดังกล่าว จึงรณรงค์ผลักดันให้มีกฎหมายหรือหน่วยงานที่จะแก้ปัญหาให้ผู้บริโภคได้เบ็ดเสร็จ  โดยรวมตัวองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ 299 องค์กร ยื่นหนังสือขอเป็นคณะผู้เริ่มก่อการในการจัดตั้ง ‘สภาองค์กรของผู้บริโภคประเทศไทย’ ต่อนายทะเบียนกลาง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562  จนเกิด “สภาองค์กรผู้บริโภค” อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563


          สภาองค์กรผู้บริโภค  ทำหน้าที่ช่วยให้การคุ้มครองผู้บริโภคมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  ผู้ที่ประสบปัญหาไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการซื้อขายสินค้าหรือบริการสามารถยื่นเรื่องต่อสภาองค์กรของผู้บริโภคได้โดยตรง เพื่อให้สภาฯช่วยฟ้องคดีแทนผู้บริโภคพร้อมดำเนินการอื่น ๆ จนกว่าคดีจะสิ้นสุด 


          ขอบข่ายการทำงานของ สภาฯ แบ่งเป็น 8 ด้าน คือ ด้านการเงินการธนาคาร, ด้านขนส่งและยานพาหนะ, ด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย, ด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ, ด้านบริการสุขภาพ, ด้านสินค้าและบริการทั่วไป, ด้านสื่อและโทรคมนาคม และด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม

 

          สภาองค์กรผู้บริโภคยังมีตัวแทนทั้งในระดับชาติและระดับจังหวัด เพื่อเสนอความเห็นต่อการจัดทำร่างกฎหมาย นโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวกับผู้บริโภค เป็นปากเป็นเสียงช่วยตรวจสอบ เตือนภัย เปิดเผยข้อมูลและชื่อสินค้าที่หลอกลวง  ไม่ปลอดภัย ทำหน้าที่ช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยและการฟ้องคดี รวมทั้งการเผยแพร่ความรู้เพื่อให้ผู้บริโภค รู้สิทธิ เข้าถึงสิทธิที่ได้รับการคุ้มครอง 


------------------------------
สภาองค์กรผู้บริโภค ติดต่อทางอีเมลล์:  thailandconsumercouncil@gmail.com
พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522:    https://bit.ly/3nxo91k
พ.ร.บ. การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562:   https://bit.ly/3u5ckBN
ท่านสามารถติดตามฟังรายการภูมิคุ้มกัน รายการเพื่อผู้บริโภค รายการที่จะให้ข้อมูลข่าวสาร และแนวทางการแก้ปัญหาผู้บริโภค ทาง www.thaipbspodcast.com  และแอปพลิเคชัน: ThaiPBSPodcast    
 


 

 

บทความอื่นๆ
แผ่นเสียง แผ่นเสียง
กำลังออกอากาศ ไม่มีการออกอากาศ แผ่นเสียง Radio แผ่นเสียง Podcast เล่นแผ่นเสียง พักแผ่นเสียง
คลิปเสียงถัดไป