บทความ / THE iCON เวอร์ชันจีน รัฐบาลจีนปราบอย่างไร
News & Analysis
THE iCON เวอร์ชันจีน รัฐบาลจีนปราบอย่างไร
29 พ.ย. 67
611
รูปภาพในบทความ THE iCON เวอร์ชันจีน รัฐบาลจีนปราบอย่างไร

กรณี THE iCON เป็นข่าวที่อยู่ในความสนใจของคนไทยทั้งประเทศ ปัญหาของการฉ้อโกง ใช้กลเม็ดเด็ดพรายทางการตลาด การหาสมาชิกแบบบบอกต่อ ซึ่งเข้าข่ายการเป็นธุรกรรมหลอกลวง ทำให้มีผู้เสียหายและเกิดผลกระทบวงกว้าง   

จีนเป็นประเทศใหญ่ มีประชากรมากกว่า 1,400 ล้านคน แม้ตอนนี้เทคโนโลยีจะมีความก้าวหน้าไปมาก แต่ก็เคยเกิดการหลอกลวงและฉ้อโกงเช่นเดียวกัน มองจีนมุมใหม่คุยกับ คุณตฤณ วุ่นกลิ่นหอม นายกสมาคมการค้าดิจิทัลไทย และกรรมการการค้าข้ามแดนจีนว่าหน่วยงานรัฐมีวิธีจัดการโดยใช้กฎหมายและเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างไร

คุณตฤณ วุ่นกลิ่นหอม นายกสมาคมการค้าดิจิทัลไทย และ กรรมการการค้าข้ามและจีน เล่าว่า หนึ่งในคดีโด่งดังของจีนที่หลอกคนมาลงทุนจนสร้างความเสียหายให้กับประชาชนกว่า 9 แสนราย มูลค่าความเสียหายกว่า 8.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คือกรณี “อี้สือเปา”  อ้างการลงทุนการออม ในระยะสั้นแล้วจะได้รับผลกำไรคุ้มค่า ใช้กระบวนการทาบทาม ตีสนิทเหล่าดารา หรือบุคคลมีชื่อเสียงให้เข้ามาร่วมลงทุน เพื่อสร้างภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือให้กับบริษัท จากนั้นจึงเชิญชวนผู้ลงทุนที่เป็นประชาชนหรือบุคคลอื่น ๆ เข้ามาร่วมลงทุน

ด้วยภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือของคนดังที่ถูกเชิญมาร่วมลงทุน รวมทั้งการแสดงให้เห็นดอกเบี้ยที่ได้รับวันต่อวัน ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว แต่หน้าจอที่แสดงตัวเลขอัตราดอกเบี้ย เป็นเพียงตัวเลขที่บริษัทปลอมแปลงขึ้น ไม่ใช่ข้อมูลที่มีอยู่จริง กว่าผู้ร่วมลงทุนจะรู้ว่าถูกหลอกก็สูญเสียเงินลงทุนไปเป็นจำนวนมหาศาล


แอปพลิเคชัน China Anti Fraud

 กฎหมายเดิมที่จีนมีอยู่ไม่สามารถรับมือกับเหล่ามิจฉาชีพได้อย่างครอบคลุม รัฐบาลจีนจึงจัดตั้ง ศูนย์ปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ National Anti-Fraud Centre (NAFC) หน่วยงานนี้ได้สร้าง China Anti Fraud แอปพลิเคชันสำหรับตรวจสอบการฉ้อโกง เมื่อมีเบอร์แปลกโทรเข้ามา ผู้ใช้งานสามารถกดปุ่มแชร์ เข้าไปในแอปพลิเคชันเพื่อขอให้ทางการตรวจสอบ จากนั้นรอเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแบบเรียลไทม์ จะรู้ผลทันทีว่าข้อมูลที่ผู้ใช้งานสงสัยเป็นข้อมูลที่ถูกต้องหรือเป็นกลลวงจากมิจฉาชีพ ทั้งยังสามารถตรวจเช็กสถานะว่าเจ้าหน้าที่ดำเนินการในรูปแบบไหน กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นมาแล้วกี่ครั้ง เป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยปราบกลโกงซึ่งถือว่าประสบผลสำเร็จอย่างมาก เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้มิจฉาชีพจีนทำงานได้ยากขึ้นจนต้องย้ายกลุ่มเป้าหมายไปยังประเทศข้างเคียง  

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังมีมาตรการเพิ่มเติมต่อยอดจากกฎหมายที่มีอยู่ เข้มงวดการอนุญาตโฆษณาออนไลน์และสื่ออื่น ๆ เพื่อป้องกันการหลอกลวง โดยจัดตั้ง กองบริหารกฎระเบียบการตลาดรัฐบาล หรือ The State Administration For Market Regulation (SAMR)  ก่อนผู้ประกอบการเจ้าของสินค้าจะโฆษณาออนไลน์  ใช้อินฟลูเอนเซอร์นำเสนอสินค้าหรือบริการ การลงทุนใด ๆ ต้องไปขอใบอนุญาตโฆษณาและนำข้อมูลของสินค้าไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนและทำล่วงหน้า รวมทั้งต้องมีเงินประกันหากมีผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากการซื้อสินค้าและบริการ

“กว่าจะได้หนังสือรับรอง ต้องเอาเนื้อหาของสินค้าไปให้ทางหน่วยงานตรวจสอบ ถ้าเป็นอาหารและยา แน่นอนไปที่ อย. จีน ถ้าเป็นเครื่องสำอางก็ไปขอตรวจสอบมาว่ามีสารประกอบอะไรบ้าง อันดับแรกเอามาให้เห็นว่าคุณขายอะไร สินค้าคุณเป็นแบบไหน จากนั้นกรอกฟอร์มออนไลน์ก่อนว่าเราจะขายอะไร หากมีศิลปิน ดารา ใครบ้างที่จะมาถือสินค้า ถ้าออนไลน์เว็บไซต์ชื่ออะไร URL อะไร สถานที่จัดแสดงสินค้าอยู่ที่ไหน สถานีอะไร เวลากี่โมงถึงกี่โมง ต้องขนาดนั้นนะครับ พอกรอกฟอร์มทั้งหมดเสร็จปุ๊บ ขั้นตอนสุดท้ายคือต้องมีหนังสือรับรองจากสำนักงานทนายความ ว่าข้าพเจ้าได้วางเงินประกันไว้ ทำประกันไว้ ถ้าโฆษณาหลอกลวงเกินจริง แล้วมีผู้ซื้อไปใช้เกิดความเสียหาย ก็มีวงเงินประกันเยียวยา ช่วยเหลือผู้เสียหาย”


ความเข้มงวดก่อนออกใบอนุญาตโฆษณานี้ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการคัดกรองและป้องกันผู้นำสินค้าหรือบริการที่ไม่ได้คุณภาพรวมทั้งการหลอกลวงจากมิจฉาชีพต่าง ๆ ทำให้กระทำผิดได้ยากขึ้น

-----------------------------------

ติดตามรับฟังรายการ  “มองจีนมุมใหม่” ที่ Thai PBS Podcast ฉบับเต็มได้ที่
Website : https://www.thaipbspodcast.com/podcast/chinainnewperspective/china151167
YouTube : https://youtu.be/EpoFYfUyzZE

-----------------------------------

ปราณปริยา แก้วต๊ะ / เชาว์วรรธณ์ พยัฆพันธ์ เรียบเรียง

แผ่นเสียง แผ่นเสียง
กำลังออกอากาศ ไม่มีการออกอากาศ แผ่นเสียง Radio แผ่นเสียง Podcast เล่นแผ่นเสียง พักแผ่นเสียง
คลิปเสียงถัดไป