
อาการปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea) ซึ่งอาจมีอาการตั้งแต่ปวดตุบ ๆ ไปจนถึงปวดรุนแรงจนต้องไปพบแพทย์ โดยปกติคนส่วนใหญ่จะบรรเทาอาการปวดประจำเดือนเบื้องต้น เช่น ใช้ถุงน้ำร้อนวางไว้ที่หน้าท้อง, การออกกำลังกายเบา ๆ หรือให้ยาบรรเทาอาการปวด เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamo), ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือยาคุมกำเนิด
แต่การบรรเทาอาการปวดเหล่านี้ อาจช่วยได้ไม่มากนัก นักวิทยาศาสตร์จึงพยายามที่จะศึกษาค้นคว้าวิธีการบรรเทาอาการปวดประจำเดือน เพื่อให้มีทางออกมากขึ้น เช่น การวิจัยเกี่ยวกับอาหารที่อาจช่วยลดการปวดประจำเดือน
The Physicians Committee องค์กรอิสระ ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐฯ เผยแพร่บทความเรื่อง การใช้อาหารต่อต้านอาการปวดประจำเดือน (Using Foods Against Menstrual Pain) ได้ให้ข้อมูลว่า ในรอบของการมีประจำเดือนของผู้หญิง ฮอร์โมนเอสโตรเจนมีการเพิ่มขึ้นและลดลงเป็นจังหวะ เพื่อกระตุ้นให้มีการสร้างพรอสตาแกลนดิน ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของไขมันกลุ่ม eicosanoids ชนิดที่ได้จาก omega-6 PUFA ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของฮอร์โมนเอสโตรเจน และมีผลต่อการลอกของผนังมดลูกไปเป็นประจำเดือนในกรณีที่ไม่มีการปฏิสนธิ
ข้อมูลจากงานวิจัยยังบอกว่า การรับประทานอาหารที่ช่วยลดการอักเสบในร่างกาย เช่น ผลไม้ ผัก ธัญพืชเต็มเมล็ด พืชตระกูลถั่ว และเมล็ดพืชต่าง ๆ จะช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือนและลดการอักเสบในร่างกายได้ รวมถึงอาหารจากถั่วเหลือง ซึ่งมีสารประกอบไฟโตเอสโตรเจน และยังจัดเป็นอาหารต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย
อีกทั้งยังมีบทความเรื่อง ถั่วเหลือง – แหล่งอาหารของฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ในคนและสัตว์ (Soya - a dietary source of the non-steroidal oestrogen equol in man and animals) ในวารสาร Journal of Endocrinology ปี 1984 ให้ข้อมูลว่า อาหารที่มีสารเจนิสตินและไดด์ซีน (Genistin and Daidzein) ที่เป็นสารที่มีประโยชน์อยู่ในถั่วเหลือง ก็จะช่วยลดการปวดประจำเดือนได้ เนื่องจากสารเจนิสติน เมื่อถูกเอนไซม์ตัดเอาน้ำตาลกลูโคสออกแล้ว จะได้สารเจนิสสไตน์ (Genistein) ที่มีบทบาทในการลดการทำงานของเอสโตรเจน และสารไดด์ซีน เมื่อถูกดูดซึมในลำไส้ใหญ่ จะถูกตัดเอาน้ำตาลกลูโคสออกกลายเป็นสารชื่อ Equol ซึ่งออกฤทธิ์คล้ายเอสโตรเจน แต่อยู่ในระดับที่ต่ำกว่ากันมาก สารนี้จึงเป็นเพียงตัวแย่งบริเวณรับของเอสโตรเจนของเซลล์
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยจากประเทศญี่ปุ่นเรื่อง Associations of menstrual pain with intakes of soy, fat and dietary fiber in Japanese women ในวารสาร European Journal of Clinical Nutrition ปี 2005 ได้ทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ไขมัน และเส้นใยอาหาร กับความรุนแรงของอาการปวดประจำเดือน โดยใช้แบบสอบถามกับผู้หญิงญี่ปุ่นอายุระหว่าง 19-24 ปี ทั้งหมด 276 คน ถึงความถี่ในการบริโภคผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ที่เป็นอาหารญี่ปุ่น เช่น ซุปมิโซะ เต้าหู้ เต้าหู้ทอด เต้าหู้ทอด เต้าหู้แห้ง ถั่วเหลืองหมัก โฮบะมิโซะ นมถั่วเหลือง และถั่วแระญี่ปุ่นต้ม รวมถึงปริมาณไขมัน และปริมาณใยอาหาร จากนั้นได้ประเมินความรุนแรงของอาการปวดประจำเดือนของแต่ละคน
ผลการวิจัยพบว่า การบริโภคใยอาหารมีความสัมพันธ์แบบผกผันอย่างมีนัยสำคัญ กับระดับความเจ็บปวดของประจำเดือน ซึ่งอธิบายให้เข้าใจง่ายคือ การกินใยอาหาร เช่น เพคติน ทำให้ลดปวดประจำเดือน เนื่องจากใยอาหารจะเข้าไปรบกวนการดูดซึมของไขมัน ส่งผลให้การสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง โดยใยอาหารสามารถจับเกลือน้ำดี จึงเป็นตัวช่วยในการดูดซึมไขมันในลำไส้เล็ก แต่ปัญหาในงานวิจัยนี้คือ การอธิบายระดับความรุนแรงของการปวดประจำเดือนเป็นไปได้ยาก เนื่องจากไม่สามารถอธิบายออกมาได้ว่าปวดขนาดไหน
ดังนั้น หากมีประจำเดือนตามกำหนดแต่มีอาการปวดท้องมากก่อนมีประจำเดือนประมาณ 1-2 วัน ให้ลองเพิ่มการกินอาหารหรือผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองก่อนที่จะถึงวันมีประจำเดือน อาจช่วยลดอาการปวดท้องได้บ้าง และถ้าเป็นไปได้ควรออกกำลังกายตามหลักการ 150 นาทีต่อสัปดาห์ควบคู่ไปด้วย
ติดตามข้อมูลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องอาหารและผลิตภัณฑ์ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคได้ในช่วงคิดก่อนเชื่อ กับ ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ นักพิษวิทยาและนักวิจัย ในรายการภูมิคุ้มกัน
เรียบเรียงโดย ชนาธิป ไพรพงค์
ฟังรายการได้ทาง