บทความ / หนุ่มสาวจีนยุคใหม่กับการเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์
News & Analysis
หนุ่มสาวจีนยุคใหม่กับการเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์
22 พ.ค. 66
1,049
รูปภาพในบทความ หนุ่มสาวจีนยุคใหม่กับการเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์

หลังจาก เติ้ง เสี่ยว ผิง ใช้นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ เปิดประเทศต้อนรับการลงทุนจากต่างชาติ ทำให้จีนเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างมาก โดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุน และการเงิน แต่ในด้านการปกครองยังคงยึดระบอบสังคมนิยมโดยมีพรรคคอมมิวนิสต์เป็นแกนหลักสำคัญในการกำหนดทิศทางของบ้านเมือง ดังนั้นหนึ่งในแนวทางของฝ่ายบริหารที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องคือ การส่งเสริมให้พลเมืองจีนได้เป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์ เพื่อสานต่ออุดมการณ์และสืบทอดเจตนารมณ์ทางการเมือง

ดร.อรสา รัตนอมรภิรมย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์อาเซียน-จีนศึกษา สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์กล่าวว่า แม้ว่าในภาพรวมคนจีนสมัครเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เพิ่มขึ้น แต่ถือว่าเป็นสัดส่วนที่ไม่มากเมื่อเปรียบเทียบจากจำนวนประชากรกว่า 1,400 ล้านคน และพบว่าสัดส่วนสมาชิกพรรคฯ ที่เป็นคนหนุ่มสาวลดลง

“ปี ค.ศ. 1977 หนึ่งปีก่อนการประกาศเปิดประเทศนั้น มีประชากรราว ๆ 950 ล้านคน เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ 35 ล้านคน คิดเป็น 3.6% แต่ถึงปี ค.ศ. 2021 มีสมาชิกเพิ่มขึ้นประมาณ 96.7 ล้านคน คิดเป็น 7% ของคนทั้งประเทศ สาเหตุที่คนรุ่นใหม่จีนไม่สนใจจะสมัครเป็นสมาชิกพรรคฯ เพราะยุคปัจจุบันพวกเขามีทางเลือกในชีวิตมากขึ้น มีอาชีพอิสระหลากหลาย การเป็นสมาชิกตามอุดมการณ์ทางการเมืองจึงไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่สุดเหมือนในอดีตอีกต่อไป เขาจะเลือกเป็นหรือไม่ก็ได้ ไม่ใช่ภาคบังคับหรือเป็นความใฝ่ฝันของหนุ่มสาวเช่นในอดีต”


ดร.อรสา กล่าวเพิ่มเติมอีกเหตุผลที่ทำให้คนจีนเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ลดลง เพราะกระบวนการสมัครเข้ารับการคัดเลือกนั้นไม่ง่าย ใช้เวลานานนับปีและมีขั้นตอนที่ซับซ้อน ต้องศึกษาทำความเข้าใจหลักการของพรรคฯ และลัทธิมากซ์อย่างลึกซึ้ง ต้องเชื่อมั่นจงรักภักดีต่อพรรคฯ และผ่านการทดสอบหลายด่านกว่าจะผ่านการพิจารณา

สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เป็นสถานะพิเศษที่ชาวจีนจำนวนไม่น้อยต้องการได้มาเพื่อเป็นเครื่องมือช่วยให้เติบโต มีความก้าวหน้าทางการงานและเป็นความได้เปรียบในสังคม หากอยากเติบโตก้าวหน้าสายบริหารหรือรับราชการต้องเป็นสมาชิกพรรคฯ เพราะทุกหน่วยงานปกครองและบริษัทต่าง ๆ ล้วนมีสมาชิกพรรคฯ อยู่ทั้งสิ้น ส่วนตำแหน่งสูงที่สุดคือ เลขาธิการพรรคประจำองค์กรต่าง ๆ เป็นการทำงานคู่ขนานกับประธานบริษัท CEO กระทั่งสถาบันการศึกษาหรือมหาวิทยาลัย ก็ยังต้องมีเลขาธิการพรรคประจำสถาบันเพื่อกำกับเชิงนโยบายความคิดของบริษัทให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับพรรคฯ ซึ่งสถานะพิเศษนี้ก็จะพ่วงมาด้วยความรับผิดชอบและการอาสาเป็นแนวหน้าเพื่อทำงานให้แก่ส่วนรวม รวมถึงอุทิศตนช่วยเหลือผู้อื่น เช่นตัวอย่างจากกรณีโควิดในเมืองอู่ฮั่น อาสาสมัครหมอและพยาบาลต่างแย่งกันลงชื่ออาสาไปเป็นด่านหน้าช่วยเหลือผู้ป่วยซึ่งส่วนใหญ่ต่างเป็นสมาชิกพรรคฯ แทบทั้งสิ้น

“โอกาสจะไปเรียนต่อต่างประเทศ เลื่อนตำแหน่งทุกอย่าง ถ้าเก่งกับเก่งชนกันแล้วต้องเลือกผู้บริหารเพื่อให้ดำรงตำแหน่งได้คนเดียว เขาก็จะเลือกคนที่เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ก่อน ลำดับการไต่เต้าก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ”

หน่วยย่อยเล็กที่สุดในระบบคือ "พรรคสาขา" ซึ่งตั้งขึ้นได้เพียงมีสมาชิกในองค์กรเกิน 3 คนขึ้นไป แล้วจะมีการสมัครเพื่อคัดเลือกให้เป็นตัวแทนพรรคคอมมิวนิสต์ในระดับต่าง ๆ ในชุมชน สังคม ต่อไปได้อีก คณะกรรมการพรรคฯ ประจำองค์กรก็จะมีกิจกรรมต่อเนื่อง เช่น มีการประชุมทุก ๆ 3 เดือน เพื่อสื่อสารอย่างสม่ำเสมอกับสมาชิก รวมทั้งมีกิจกรรมหลากหลาย และกิจกรรม “ผลัดกันวิพากษ์วิจารณ์” ทบทวนตัวเองและให้ความเห็นการทำงานของผู้อื่น แม้แต่ผู้บริหารก็ทำได้ อีกทั้งเปิดโอกาสให้คนอื่นชี้แนะตัวเราด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไปก็ส่งผลต่อความคิดความเชื่อของคนรุ่นใหม่ด้วย หนึ่งในค่านิยมของชาวจีนคือทำอะไรก็ได้ไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่องหรือเก่งทุกอย่างแต่ขอให้รู้จริงและเชี่ยวชาญ ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มกำลังสุดความสามารถก็เท่ากับได้ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้แล้ว เมื่อมีแนวคิดเช่นนี้ อีกทั้งโอกาสของหน้าที่การงานที่เปลี่ยนไปจากเดิมก็ทำให้คนจีนจำนวนไม่น้อยไม่ยึดโยงตัวเองกับการเป็นสมาชิกพรรคฯ อีกต่อไป


เรียบเรียงโดย โสภิต หวังวิวัฒนา



ฟังรายการได้ทาง


 

แผ่นเสียง แผ่นเสียง
กำลังออกอากาศ ไม่มีการออกอากาศ แผ่นเสียง Radio แผ่นเสียง Podcast เล่นแผ่นเสียง พักแผ่นเสียง
คลิปเสียงถัดไป