บทความ / 15 มี.ค. 2566 วันสิทธิผู้บริโภคสากล สร้างความเข้มแข็งผู้บริโภคด้านพลังงาน สู่การใช้พลังงานสะอาด
สิทธิผู้บริโภคและวาระทางสังคม
15 มี.ค. 2566 วันสิทธิผู้บริโภคสากล สร้างความเข้มแข็งผู้บริโภคด้านพลังงาน สู่การใช้พลังงานสะอาด
15 มี.ค. 66
1,133
รูปภาพในบทความ 15 มี.ค. 2566 วันสิทธิผู้บริโภคสากล สร้างความเข้มแข็งผู้บริโภคด้านพลังงาน สู่การใช้พลังงานสะอาด

ทั่วโลกเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจถดถอยตั้งแต่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดวิกฤติราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 50% หลังสิ้นปี 2565 ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องในปี 2566 นอกจากนี้ ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็เป็นประเด็นสำคัญ หากเราลองคิดดูว่าทุกวันนี้ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในแต่ละครัวเรือนเพิ่มขึ้นมากเท่าไรเราก็ยิ่งใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มขึ้นตามไปด้วย นำไปสู่ปัญหามลพิษทางอากาศ ภาวะโลกร้อน และวิกฤติพลังงานโลก ผู้บริโภคทั่วโลกจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานภาคครัวเรือนในปัจจุบัน

สถานการณ์ด้านพลังงานของประเทศไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ชี้ว่า ความสามารถในการพึ่งตนเองด้านพลังงานของประเทศลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 40% ในปี 2561 และเหลือเพียง 30% ในปี 2565 ขณะที่มูลค่าการนำเข้าพลังงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลังงานฟอสซิล เช่น น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน เพิ่มขึ้นจาก 1.2 ล้านล้านบาท เป็น 2.1 ล้านล้านบาท จากการปรับขึ้นราคาพลังงานโลกครั้งใหญ่ในปี 2565 ต่อเนื่องมาถึงปี 2566 ทำให้ประชาชนต่างได้รับความเดือดร้อนจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและราคาค่าไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

15 มีนาคม วันสิทธิผู้บริโภคสากล หรือ World Consumer Rights Day สหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International หรือ CI) ที่มีสมาชิกกว่า 200 องค์กร จาก 100 กว่าประเทศทั่วโลก ร่วมกันกำหนดประเด็นการขับเคลื่อนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิของผู้บริโภค

ในปี 2566 ได้กำหนดประเด็น “การสร้างความเข้มแข็งผู้บริโภคในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสู่การใช้พลังงานสะอาด (Empowering Consumers through Clean Energy Transitions)” เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถรับมือกับวิกฤติราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น เพิ่มความสามารถในการเข้าถึงพึ่งพาพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ฯลฯ ซึ่งผลดีของการใช้พลังสะอาด คือ ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้อากาศเปลี่ยนแปลงและโลกร้อนขึ้น

ขณะที่ผู้นำทั่วโลกเห็นถึงความสำคัญเรื่อง การใช้พลังงานสะอาดและส่งเสริมให้ประชาชนติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เช่น จีนส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชนด้วยการสร้างรถไฟฟ้าหลายเส้นทาง ส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า จากการจัดประชุมด้านสิ่งแวดล้อมใน เวทีการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26) ที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยเข้าร่วมประชุมและได้ประกาศในที่ประชุมว่า จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Emission) ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) แต่ปริมาณการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลในประเทศไทยยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่ได้ลดน้อยถอยลงแต่อย่างใด

ในมุมผู้บริโภค ระบบการรับซื้อไฟฟ้าบนหลังคา หรือ Net Metering ซึ่งเป็นระบบหักลบกลบหน่วยอัตโนมัติคำนวณจากไฟฟ้าที่ผลิตใช้เองผ่านโซลาร์เซลล์บนหลังคากับไฟฟ้าที่ใช้จากการไฟฟ้าฯ ผู้ใช้จะจ่ายค่าไฟฟ้าตามจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่หักลบแล้วซึ่งปัจจุบันระบบโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งบนหลังคาบ้านนั้นมีอยู่ 2 ระบบ คือ Ongrid System และ Hybrid System  

  • ระบบโซลาร์แบบออนกริด (Ongrid Solar System) เป็นระบบผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้าของ การไฟฟ้านครหลวง หรือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยสัดส่วนขึ้นอยู่กับกำลังการผลิตและจำนวนโหลดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ในบ้าน   
  • ระบบโซลาร์แบบไฮบริด (Hybrid Solar System) พัฒนาขึ้นมาจากระบบออนกริดโดยแก้ไขข้อด้อยที่ไม่สามารถจ่ายไฟในเวลากลางคืนและต้องหยุดการทำงานขณะที่ไฟฟ้าดับ นั่นคือสามารถทำงานได้ในขณะที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึงและแก้ปัญหาไฟดับหรือไฟตก

หากประชาชนจะติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ทั้ง 2 แบบ ต้องขออนุญาตจากหน่วยงานของภาครัฐมากถึง 3 หน่วยงาน ได้แก่ 

  • คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กระทรวงพลังงาน 
  • การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) หรือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 
  • สำนักงานเขต อำเภอ หรือ หน่วยงานท้องถิ่น

ในงานเสวนาภายใต้หัวข้อ ล้านหลังคา ล้านโซลาร์เซลล์ : “พลังผู้บริโภค สู่พลังงานหมุนเวียน” ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคและภาคประชาสังคม วิเคราะห์ว่า ภาครัฐพยายามปิดกั้นประชาชนผู้ขอติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์จากการออก พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ส่งผลให้การติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์มีความยุ่งยากซับซ้อนและค่าใช้จ่ายสูง

“กระทรวงมหาดไทย ยังออกกฎกระทรวงฉบับที่ 65 ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ที่กำหนดให้การติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาจะต้องมีผลการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงที่รับรองโดยวิศวกรโยธา และต้องแจ้งต่อเทศบาลท้องถิ่นให้ทราบก่อนดำเนินการ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ออกเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ลงนามโดย พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ถือเป็นภาระของประชาชนที่ต้องจ่ายเงินค่าวิศวกรรับรองแบบ รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการจดแจ้ง จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ.2566) เงื่อนไขนี้ยังคงไม่มีมาตรการใด ๆ จากรัฐบาลมาอุดหนุน และการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาไม่มีความจำเป็นต้องมีวิศวกรรับรองแบบ เนื่องจากโครงสร้างหลังคาไม่ได้เป็นสาระสำคัญกับน้ำหนักของโซลาร์เซลล์เพียงแค่ 3-5 กิโลวัตต์”

 

เนื่องในวันสิทธิผู้บริโภคสากล ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนของสังคมไทย ควรตระหนักถึงความสำคัญของการพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน โดยภาคประชาสังคมฯ มีข้อเสนอให้รัฐบาลหรือพรรคการเมืองใดที่สมัครรับเลือกตั้งช่วยผลักดันนโยบาย ยกเลิกกฎเกณฑ์ตัวขัดขวางการติดตั้งโซลาร์เซลล์ของประชาชน พร้อมสนับสนุนงบประมาณการติดตั้งและมาตรการลดหย่อนภาษี เพื่อให้ประชาชนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไว้ใช้เองในครัวเรือน รวมทั้งจัดการระบบขนส่งมวลชนสาธารณะทุกประเภทโดยเฉพาะรถไฟฟ้าให้มีความปลอดภัยและราคาที่เป็นธรรม เพื่อจูงใจให้คนหันมาลดการใช้รถส่วนตัว นอกจากประหยัดค่าใช้จ่ายในวิกฤติราคาพลังงานแล้วก็ยังลดมลพิษทางอากาศอีกด้วย 

ติดตามฟังรายการภูมิคุ้มกัน รายการเพื่อผู้บริโภค นำเสนอประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคทุกแง่มุม ทั้งผลดีและปัญหาผู้บริโภค เปิดให้มีการร้องเรียน สอบถามวิธีแก้ไขจากเจ้าของสินค้า หรือผู้ที่ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค    
                             

รับฟังได้ทาง
  เว็บไซต์ | https://thaip.bs/TZJYupF
  Youtube | https://thaip.bs/ttVV7jq
 

แผ่นเสียง แผ่นเสียง
กำลังออกอากาศ ไม่มีการออกอากาศ แผ่นเสียง Radio แผ่นเสียง Podcast เล่นแผ่นเสียง พักแผ่นเสียง
คลิปเสียงถัดไป