บทความ / สหรัฐฯ เปิดศึกจีน แย่งชิงอำนาจทางเทคโนโลยีผ่านอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์
News & Analysis
สหรัฐฯ เปิดศึกจีน แย่งชิงอำนาจทางเทคโนโลยีผ่านอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์
09 มี.ค. 66
1,450
รูปภาพในบทความ สหรัฐฯ เปิดศึกจีน แย่งชิงอำนาจทางเทคโนโลยีผ่านอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์

สงครามเทคโนโลยี กำลังเป็นพื้นที่ใหม่ของการแข่งขันเชิงอำนาจระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา แทนการใช้อำนาจทางการเมืองหรือการทหารเช่นในอดีต มาตรการกีดกันทางการค้าที่สหรัฐฯ ใช้กับจีนโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ซึ่งส่งผลต่อการผลิตชิปขั้นสูงทั่วโลก ถูกทั่วโลกจับตามองว่าจะเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สหรัฐฯ ใช้เพื่อสกัดกั้นการพัฒนาของจีนในเรื่องดังกล่าวหรือไม่

สหรัฐอเมริกา ระงับใบอนุญาตการจัดจำหน่ายและการนำเข้าสินค้าเทคโนโลยีจากจีนด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติ ทยอยประกาศห้ามบริษัทสหรัฐฯ ส่งออกสินค้าให้กับบริษัทจีนที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการสื่อสารและนวัตกรรม ขึ้นบัญชีดำบริษัทหลายแห่งของจีนพร้อมสร้างเงื่อนไขเพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบ ควบคุม กลั่นกรอง กำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ รวมทั้งห้ามส่งออกหากไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์และรัฐบาลซึ่งต้องขอเป็นคราว ๆ ไป

ภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกากับประเทศพันธมิตร ได้แก่ แคนาดา ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์ ทำข้อตกลงในหลักการทั่วไป (Agreement in principle) ว่าด้วยมาตรการควบคุมการจัดหาและการจัดส่งสินค้าเทคโนโลยีและจำกัดการส่งออกชิ้นส่วนเครื่องจักรผลิตชิปขั้นสูงให้กับจีน ทำให้จีนมีข้อจำกัดในการทำการค้ากับสหรัฐฯ และชาติพันธมิตร

ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน กล่าวว่า มาตรการต่าง ๆ ที่ถูกกำหนดขึ้นได้ส่งต่อจากรัฐบาลอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สู่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ทวีความเข้มงวดเพิ่มขึ้นเพื่อสกัดกั้นและควบคุมการทำธุรกรรมกับจีน ซึ่งจะเป็นประโยชน์แค่เพียงระยะสั้นเท่านั้น แต่จะไม่เป็นผลดีกับสหรัฐฯ ในระยะยาว

“มีการตั้งคำถามว่า การที่สหรัฐฯ ใช้ประเด็นทางการเมืองและการทหารมาเป็นข้ออ้างเพื่อคุมเรื่องเศรษฐกิจกับจีนมันไปไกลกว่าที่ควรจะเป็นหรือไม่ เพราะบางกรณีไม่ได้เป็นชิ้นส่วนเทคโนโลยีขั้นสูงที่น่ากังวลเรื่องความมั่นคง จึงถูกมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติเพราะเจาะจงกับคู่ค้าจีนชาติเดียวเท่านั้น ช่วงครึ่งหลังของปี พ.ศ.2565 สหรัฐฯ ออกมาตรการด้านสงครามเทคโนโลยีเฉลี่ยเดือนละหนึ่งครั้งแล้วค่อย ๆ เพิ่มจำนวนและความเข้มงวด ในยุคแรกเป็นการกำกับที่ปลายน้ำคือควบคุมการจัดหาและการจัดส่งเซมิคอนดักเตอร์ แต่ในยุคต่อมาสหรัฐฯ ยกระดับการควบคุมให้ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ปลายน้ำไปสู่ต้นน้ำ”


จีน นำประเด็นนี้เข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องต่อองค์การการค้าโลกในฐานะที่เป็นชาติสมาชิกและพยายามแก้ปัญหาด้วยวิธีเจรจาต่อรองแต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงทำให้รัฐบาลปรับเปลี่ยนวิธีการ หันมาให้ความสำคัญและสนับสนุนพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์สัญชาติจีน กำหนดแผนใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ จัดตั้งกองทุนขนาดใหญ่เพื่อสนับสนุนเงินทุนกลุ่มสินค้าเทคโนโลยีในรูปแบบการปล่อยสินเชื่อและการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจซึ่ง ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร วิเคราะห์ว่า จะเป็นโอกาสให้จีนสามารถผงาดเป็นชาติผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ได้ในที่สุด

“เมื่อจีนพัฒนาศักยภาพให้เทียบชั้นกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์โลกได้ ตลาดในประเทศจีนใหญ่กว่านานาชาติทำให้มีข้อได้เปรียบด้านราคาและคุณภาพสินค้า จากแนวโน้มความต้องการสินค้าเทคโนโลยีที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต จะเป็นประโยชน์ต่อโลกด้านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในภาพรวม”


ติดตามฟังการแข่งขันเพื่อแย่งชิงความเป็นมหาอำนาจระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนด้านเทคโนโลยี ผ่านสงครามเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ต่อได้ใน รายการ “มองจีนมุมใหม่” EP. 98: จาก Trade War สู่ Tech War จีนจะรับมือสหรัฐฯ อย่างไร


รับฟังได้ทาง
 Website | https://thaip.bs/Ow8XnGI
 

แผ่นเสียง แผ่นเสียง
กำลังออกอากาศ ไม่มีการออกอากาศ แผ่นเสียง Radio แผ่นเสียง Podcast เล่นแผ่นเสียง พักแผ่นเสียง
คลิปเสียงถัดไป