บทความ / การต่อสู้เพื่อจุดยืนในสังคมของกลุ่มคน LGBTQIA+ สู่จุดเริ่มต้นของ “Pride Month”
News & Analysis
การต่อสู้เพื่อจุดยืนในสังคมของกลุ่มคน LGBTQIA+ สู่จุดเริ่มต้นของ “Pride Month”
28 มิ.ย. 66
1,245
รูปภาพในบทความ การต่อสู้เพื่อจุดยืนในสังคมของกลุ่มคน LGBTQIA+ สู่จุดเริ่มต้นของ “Pride Month”

เดือนมิถุนายนของทุกปี เป็นเดือนแห่ง “Pride Month” ที่กลุ่มคนเพศทางเลือก (LGBTQIA+) ได้เฉลิมฉลองความภาคภูมิใจในความเป็นตัวเองและแสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางเพศได้อย่างเต็มที่ โดยมี “ธงสีรุ้ง” เป็นสัญลักษณ์ของความแตกต่างและความหลากหลายของกลุ่มคน LGBTQIA+

ไทยพีบีเอสพอดคาสต์ชวนอ่านเรื่องราวของ Pride Month ว่ากว่าจะถึงวันนี้ กลุ่มคน LGBTQIA+ ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการใช้ชีวิตในสังคม ทั้งการถูกเลือกปฏิบัติไปจนถึงการถูกใช้ความความรุนแรงจากคนในสังคมอย่างไรบ้าง
 

จุดชนวนในการเคลื่อนไหวของกลุ่มคน LGBTQIA+

ช่วงทศวรรษที่ 60 กลุ่มคนรักเพศเดียวกัน หรือคนที่แต่งกายใม่ตรงกับเพศสภาพ ยังไม่ได้รับการยอมรับในสังคมอเมริกัน มิหนำซ้ำยังถือเป็นเรื่องต้องห้าม จนรัฐบาลสหรัฐถึงขั้นประกาศใช้กฎหมาย “Masquerade Law” กำหนดโทษของคนกลุ่มนี้ ในทางกลับกันก็มีบาร์เล็ก ๆ ที่ชื่อว่าสโตนวอลล์ (Stonewall Inn) ในนครนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในพื้นที่ปลอดภัยของกลุ่มคน LGBTQIA+  


บาร์สโตนวอลล์ นครนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา

จนกระทั่งวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1969 ตำรวจได้บุกเข้าจับกุมแล้วใช้อาวุธทำร้ายร่างกายคนที่กำลังสังสรรค์อยู่ในบาร์ หลังจากนั้นก็เริ่มมีการตอบโต้กลับ ผู้คนขว้างปาสิ่งของใส่ตำรวจจนบานปลายเป็นการจลาจล เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พวกเขาถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมและถูกเหยียดหยามจากสังคม  

เหตุการณ์นี้กลายเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้และเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมกันของคนกลุ่มคน LGBTQIA+ ทั้งในสหรัฐและทั่วโลกในเวลาต่อมา โดยกลุ่มคน LGBTQIA+ ออกมาเคลื่อนไหวในการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศด้วยการเดินขบวนครั้งแรกในปีถัดมา วันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1970 ในนครนิวยอร์ก เพื่อรำลึกถึงการปะทะที่บาร์สโตนวอลล์นี้ด้วย

 

เดือนแห่ง Pride Month กับการเปิดโลกแห่งความหลากหลายทางเพศ

Pride Month เปรียบเสมือนเป็น “พื้นที่ปลอดภัย” สำหรับกลุ่มคน LGBTQIA+ ที่จะได้เปิดเผยตัวตน รวมถึงแสดงออกให้สังคมได้เห็นถึงความหลากหลายทางเพศและยอมรับพวกเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง นอกจากนี้ยังเป็นช่วงเวลาที่ทำให้พวกเขาได้พบปะกับเพื่อนพ้องที่มีรสนิยมสอดคล้องกัน มีกิจกรรมและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิตของกันและกัน  

แม้ว่าการแสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางเพศของชาว LGBTQIA+ จะเปิดเผยจนเป็นที่ยอมรับในสังคมมากขึ้น แต่การครองคู่กับคนรักที่เป็นเพศทางเลือกด้วยกันโดยมีสถานะรับรองถูกต้องตามกฎหมายยังทำได้ยาก มีเพียงไม่กี่ชาติที่อนุญาตการสมรสของเพศเดียวกัน เช่น ไต้หวันและสวีเดน เป็นต้น ซึ่งยังคงเป็นประเทศส่วนน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับแนวโน้มของคนทั้งโลก


บรรยากาศงานบางกอกไพรด์ หอศิลปวัฒนธรรมฯ กทม. (มิ.ย. 2566)

สำหรับในประเทศไทย สถานการณ์ไม่แตกต่างจากชาติอื่น ๆ แม้จะยอมรับในทางพฤตินัยอย่างเปิดเผย มีกิจกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายของชุมชน LGBTQIA+ เช่น งานเดินขบวน “บางกอกไพรด์ 2023” (Bangkok Pride 2023) ที่จัดขึ้นในวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งจัดได้อย่างยิ่งใหญ่ มีคนสำคัญและนักการเมืองไปร่วมงาน หรือบุคคลสาธารณะ ศิลปิน ดารา ผู้มีชื่อเสียง สามารถแสดงออกและแต่งกายได้อย่างเสรี แต่ในทางกฎหมายยังคงไม่รับรองการแต่งงานของเพศเดียวกัน แม้จะมีการพยายามผลักดันกฎหมาย “สมรสเท่าเทียม” มาระยะหนึ่งแล้วแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งล่าสุด 8 พรรคร่วมรัฐบาลได้ระบุให้เรื่องนี้เป็นหนึ่งใน MOU (Memorandum Of Understanding) พร้อมผลักดันให้ผ่านสภาใน 100 วันหลังจัดตั้งรัฐบาลใหม่

ต้องจับตามองว่าทิศทางในการเปลี่ยนแปลงกฎหมายและนโยบายเพื่อสนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดี รวมถึงการเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ สำหรับกลุ่มคน LGBTQIA+ ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยในเร็ว ๆ นี้จะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะสิทธิขั้นพื้นฐานเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกคนควรจะได้รับอย่างเท่าเทียมกัน และจะต้องไม่มีใครถูกเลือกปฏิบัติเพียงเพราะความแตกต่างทางเพศ


เรียบเรียงโดย ชนกนันท์ ทองมา



รับฟังรายการได้ทาง


แผ่นเสียง แผ่นเสียง
กำลังออกอากาศ ไม่มีการออกอากาศ แผ่นเสียง Radio แผ่นเสียง Podcast เล่นแผ่นเสียง พักแผ่นเสียง
คลิปเสียงถัดไป