
"ลืม" เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่จะเป็นมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ อย่างของแต่ละคนซึ่งส่งผลกระทบต่อตัวของคนที่ลืมเองและคนรอบข้าง แม้อาการลืมถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ แต่หากลืมเป็นกิจวัตร ลืมบ่อย ๆ อาจเป็นสัญญาณไม่ดีเกี่ยวกับโรคที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น โรคสมองเสื่อม หรือโรคอัลไซเมอร์ได้
ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดอาการลืมทั้งที่เกิดจากพฤติกรรมและร่างกายมี 9 สาเหตุ คือ
1. นอนน้อย พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือไม่ได้พักผ่อนติดต่อกันหลายวัน
2. ร่างกายได้รับออกซิเจนน้อยจากการไม่ออกกำลังกาย ทำให้สมองได้รับออกซิเจนน้อยตามไปด้วย
3. การทำกิจกรรมหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ทั้ง ๆ ที่สมาธิจดจ่อได้เพียงอย่างเดียว
4. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีฤทธิ์ทำลายความทรงจำระยะสั้นหากดื่มมากจนเกินไป
5. อยู่ในสภาวะความเครียดและสมองทำงานหนัก สภาวะนี้ทำให้สมองหลั่งสารสื่อประสาทมากกว่าปกติในช่วงกลางคืน ส่งผลให้นอนไม่หลับ
6. เป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งเกิดจากสารเคมีในสมองที่ส่งผลต่อความจำและความคิด
7. โรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน, โรคไทรอยด์, โรคตับ, โรคไต ฯลฯ
8. ยาบางชนิดในกลุ่มที่ขัดขวางการทำงานของสารสื่อประสาทด้านความจำ เช่น ยาระงับประสาท, ยาลดไขมันในเลือด, ยาบรรเทาโรคภูมิแพ้, ยาโรคหัวใจ และยาโรคความดันโลหิต
9. การเปลี่ยนแปลงของร่างกายตามอายุที่ยากจะหลีกเลี่ยง
หากเกิดอาการหลงลืมบ่อยครั้งมากขึ้นหรือเป็นเรื้อรัง นั่นอาจเป็นสัญญาณของโรคทางสมอง เช่น โรคอัลไซเมอร์ ท่านควรปรึกษาแพทย์เมื่อเกิดปัญหาด้านความจำบ่อยครั้ง
ข้อมูล: พญ. กิตติยา ศรีเลิศฟ้า | แพทย์อายุรกรรม ฝ่ายการแพทย์ AIA
เรียบเรียง: เชาว์วรรธณ์ พยัฆพันธ์ | โปรดิวเซอร์สื่อเสียงอาวุโส Thai PBS Podcast
รับฟังได้ทาง Website | https://thaip.bs/Vt18x3R