บทความ / ผีในอุษาคเนย์ : ผี – ศาสนา – และการขยายอิทธิพลทางความเชื่อของไทย
Pop Culture
ผีในอุษาคเนย์ : ผี – ศาสนา – และการขยายอิทธิพลทางความเชื่อของไทย
13 พ.ย. 64
5,487
รูปภาพในบทความ ผีในอุษาคเนย์ : ผี – ศาสนา – และการขยายอิทธิพลทางความเชื่อของไทย

         ศาสนาพุทธไม่ได้สอนให้งมงายและยึดติดในกิเลส แต่ทำไมคนที่ระบุว่าตนเองเป็นชาวพุทธจำนวนไม่น้อยจึงเชื่อเรื่องการขอเพื่อหวังผลดลบันดาล ? โดยเฉพาะการขอ “หวย” จาก “ผี”  คนไทยหลาย ๆ คนถึงกับดั้นด้นเดินทางไป “ขอหวย” ไกลถึงต่างประเทศเลยทีเดียว

         ความเชื่อเรื่องผีและคติการนับถือผี (Animism) อยู่คู่กับสังคมมนุษย์มาช้านาน จนกระทั่งศาสนาเข้ามามีบทบาทมากขึ้น คติความเชื่อเกี่ยวกับการเคารพนับถือผีและธรรมชาติก็ค่อย ๆ ผสมผสานเข้าไปในที่สุด เห็นได้จากวัดไทยหลายแห่งที่ไม่ได้มีเพียงพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมเท่านั้น แต่ยังปรากฏความเชื่ออื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นรูปเคารพของเทพฮินดู ตลอดจนผ้าแพรที่ผูกบนต้นไม้และกุมารทอง

         สาเหตุที่ผู้คนเชื่อในการขอพรและโชคลาภจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทั้ง ๆ ที่ศาสนาพุทธไม่ได้สอนเช่นนั้น เป็นเพราะผู้ขอมักหวังผลบางอย่างในระยะสั้น เช่นการถูกหวย จึงนิยมขอสิ่งเหล่านั้นกับผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยหวังจะเห็นผลลัพธ์อย่างรวดเร็วทันที ในขณะที่ศาสนาพุทธสอนให้ทำบุญ ทำทาน สร้างกุศลเพื่อจะได้มีชีวิตที่ดีในภพภูมิหน้า ซึ่งนั่นคือผลในระยะยาวที่ยังมองไม่เห็น

         ดินแดนเอเชียอุษาคเนย์นี้มีชุดความคิดเกี่ยวกับคติการนับถือผี (Animism) ที่คล้ายคลึงกัน จึงไม่แปลกที่การขอเพื่อหวังผลดลบันดาลจะแทรกซึมอยู่ทุกที่ ดังเช่นในประเทศเมียนมา ชาวเมียนมาเคารพผีที่เรียกว่า “นัต” (Nat) โดยเฉพาะ “นัตพระอินทร์” เพราะเชื่อว่าเป็นหัวหน้านัตทั้งมวล แต่ที่คนไทยน่าจะรู้จักกันดีกว่านัตพระอินทร์คือ “เทพทันใจ” ณ วัดโบตะทาวน์ ที่มีลักษณะเป็นชายกำลังชี้ไปทิศทางใดทิศทางหนึ่ง และเทพทันใจตนนี้เองที่ชาวไทยนิยมไปขอหวย รวมถึงนำพิธีกรรมบางอย่างไปเผยแพร่ไว้ที่นั่นด้วย

นัตโบโบจี

         นัตตนนี้แท้จริงแล้วชื่อว่า “โบโบจี” มีความหมายว่าพ่อแก่ ตามตำนานเล่าว่าเป็นผู้ชี้ทางให้กับ ตปุสสะ และ ภัลลิกะ สองพ่อค้าที่ได้รับพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าและหาทำเลในการสร้างเจดีย์เพื่อประดิษฐานพระเกศาธาตุ นัตโบโบจีตนนี้จึงชี้ไปที่เนินเขา “สิงคุตระ” เพื่อบอกว่าที่นั่นคือทำเลที่ดีนั่นเอง แต่คนไทยบางส่วนกลับเข้าใจเพียงว่า “เทพทันใจ” คือเทพให้โชคลาภหรือสามารถดลบันดาลให้ถูกหวยได้ จึงนิยมไปสักการะและได้เผยแพร่พิธีกรรมแบบ “ไทย ๆ” ไว้ กล่าวคือจะถวายเครื่องสักการะและนำธนบัตร 2 ใบซ้อนกันผูกเป็นกรวยนำไปสอดไว้ที่นิ้วของนัตโบโบจี เอาหน้าผากแตะที่ปลายนิ้วของนัตแล้วอธิษฐานขอสิ่งที่อยากได้ จากนั้นดึงธนบัตรใบหนึ่งกลับ อีกใบนำไปทำบุญ พิธีกรรมเช่นนี้แต่เดิมชาวเมียนมาไม่ได้ปฏิบัติ แต่ทุกวันนี้ก็เหมือนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเมื่อสักการะนัตโบโบจีไปเรียบร้อยแล้ว

เมียะนานนเว (Mya Nan Nwe)

         นัตอีกตนหนึ่งที่คนไทยมีความเข้าใจผิดอยู่ คนไทยรู้จักกันดีในนาม “เทพกระซิบ” มีลักษณะเป็นหญิงสาวที่กำลังนั่งสวดมนต์ เชื่อกันว่าเป็นเทพที่สามารถดลบันดาลเกี่ยวกับความรักให้สมหวังได้ เวลาขอก็ให้ไปกระซิบเบา ๆ ข้าง ๆ ท่าน ทว่าในความเป็นจริงแล้ว ตำนานของนัตตนนี้ไม่ได้มีส่วนใดเกี่ยวข้องกับความรักเลย เพราะเธอคือ “เมียะนานนเว” (Mya Nan Nwe) เจ้าหญิงเชื้อสายไทใหญ่ที่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาแรงกล้า วันหนึ่งนัตโบโบจีได้เข้าฝันเพื่อเชิญให้เสด็จมาดูแลเจดีย์โบตะทาวน์ ส่วนสาเหตุที่ต้องไปกระซิบใกล้ ๆ เป็นเพราะเธอขี้ตกใจและกำลังสวดมนต์อยู่นั่นเอง

         นอกจากพิธีกรรมและความเชื่อเกี่ยวกับการ “ขอ” กับนัตในเมียนมาแล้ว คนไทยยังได้เผยแพร่พิธีกรรมต่าง ๆ ในดินแดนอื่นอีกด้วย เช่น นำทองไปปิดตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างสังเวชนียสถานในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เนื่องจากสถานที่เหล่านั้นเป็นโบราณสถาน ควรจะรักษาสภาพและความสะอาดไว้ให้มากที่สุด

ความเชื่อเกี่ยวกับการเคารพบูชาผีเพื่อหวังผลดลบันดาลของคนไทยได้นำไปสู่การกำเนิดของธุรกิจใหม่ ๆ หลายอย่าง เช่น การจัดทัวร์สำหรับบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในต่างแดนโดยเฉพาะ เป็นต้น สามารถข้ามวัฒนธรรม ข้ามพรมแดน ถ่ายทอดความเชื่อ เกิดการสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่มีมูลค่ามหาศาล เสมือนเป็น Soft Power ของไทยอย่างหนึ่งได้เลย

 

ศาลเจ้ายาสุคุนิ ประเทศญี่ปุ่น

         อีกหนึ่งประเทศในภูมิภาคเอเชียที่มีความเชื่อระหว่างศาสนาและภูตผีเฉกเช่นในดินแดนไทยและเอเชียอุษาคเนย์คือ “ญี่ปุ่น” โดยปรากฏผ่าน “ลัทธิชินโต (神道)” เป็นการผสมผสานความเชื่อของผีและเทพเจ้าเข้ากับศาสนาพุทธ ยิ่งไปกว่านั้น การบูชา “ผี” ในญี่ปุ่น ยังสามารถส่งผลกระทบถึงความสัมพันธ์ทางการเมืองได้อีกด้วย

         ในขณะที่ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เชื่อว่าเมื่อคนเราตาย ขวัญหรือวิญญาณจะออกจากร่างไปรวมกับผีแถนและผีฟ้า ชาวญี่ปุ่นกลับเชื่อว่าวิญญาณเหล่านี้ยังคงอยู่ หากตายแล้วไม่ได้อยู่ในทำเลที่ถูกต้องหรือไม่มีที่สิงสถิต วิญญาณเหล่านั้นจะกลายเป็นวิญญาณร่อนเร่ ชาวญี่ปุ่นจึงต้องทำป้ายชื่อแล้วนำไปตั้งในสถานที่ ที่เชื่อว่าบริสุทธิ์ แล้วจัดพิธีบวงสรวงบูชา หากบูชาดี วิญญาณจะกลายเป็นวิญญาณที่มีความสงบ ความสุข เราสามารถขอพรได้ แต่ถ้าหากผู้ใดตายด้วยจิตที่ไม่สงบ ก็จะกลายเป็นวิญญาณร้ายที่มาหลอกหลอน หรือทำให้เกิดภัยพิบัติ

Japanese Tombstone

         วิญญาณที่ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าชั่วร้ายที่สุดคือวิญญาณของทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะอาชญากรสงคราม เช่น ฮิเดกิ โตโจ ผู้บัญชาการทหารและนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทางการญี่ปุ่นจึงต้องหมั่นสักการะเพื่อไม่ให้วิญญาณเหล่านั้นเป็นวิญญาณร้าย

         เมื่อใดก็ตามที่ทางการญี่ปุ่นทำพิธีดังกล่าว ประชาชนบางส่วนและรัฐบาลของประเทศจีนและเกาหลีซึ่งเป็นเหยื่อของอาชญากรสงครามจะไม่พอใจ เพราะถือว่าการกระทำนี้เหยียบย่ำเกียรติภูมิของจีนและเกาหลี วิญญาณในญี่ปุ่นจึงเสมือนเป็นเครื่องมือหนึ่งของนักการเมือง เพราะเมื่อใดก็ตามที่ญี่ปุ่นไม่พอใจประเทศจีนและเกาหลี บรรดานักการเมืองก็จะไปเคารพสักการะวิญญาณเหล่านี้ เพื่อส่งสัญญาณไปยังอีกฝ่ายทำให้เกิดการตอบโต้และกระทบกระทั่งกันเนือง ๆ

คติในการนับถือผี แม้จะเป็นเรื่องจับต้องไม่ได้และงมงายสำหรับบางคน ทว่าหากมองให้ลึกกว่านั้น
เรื่อง “ผี ๆ” นี้กลับสะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์ตัวตนของแต่ละชนชาติ เกิดเป็นวัฒนธรรมที่สร้างมูลค่าได้ ตลอดจนกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองระหว่างประเทศได้เลยทีเดียว

         

         ฟังรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในรายการ “เล่ารอบโลก”  โดย ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ตอน “ผีในอุษาคเนย์ 2” หรือฟังเรื่องราวเกี่ยวกับผีอื่น ๆ ได้ในตอน "ผีในอุษาคเนย์" และติดตามความสนุกของเรื่องเล่าจากทั่วทุกมุมโลกได้ทุกวันอาทิตย์ ทาง ไทยพีบีเอสพอดคาสต์

 

ฟังรายการ เล่ารอบโลก ทาง Thai PBS Podcast

คลิก >> Website | Spotify | Apple Podcast | Google Podcast

หรือฟังทาง Application | Thai PBS Podcast 

สแกน QR Code ดาวน์โหลดได้ที่นี่

ข้อมูล : ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
เรียบเรียง : บินยากร นวลสนิท
แผ่นเสียง แผ่นเสียง
กำลังออกอากาศ ไม่มีการออกอากาศ แผ่นเสียง Radio แผ่นเสียง Podcast เล่นแผ่นเสียง พักแผ่นเสียง
คลิปเสียงถัดไป