บทความ / วิศวกรเสียงวงออร์เคสตรา
Music
วิศวกรเสียงวงออร์เคสตรา
08 เม.ย. 64
3,954
รูปภาพในบทความ วิศวกรเสียงวงออร์เคสตรา

เสียง คือคลื่นที่เกิดจากแรงสั่นสะเทือนของวัตถุที่ถูกส่งผ่านตัวกลางเช่นอากาศไปยังการรับรู้ของผู้ที่อยู่ปลายทาง  ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา แต่สามารถรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสผ่านหู

วิศวกรเสียง (Sound Engineer) คือคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในกระบวนการจัดการเสียงรวมทั้งการใช้อุปกรณ์  การออกแบบ บันทึกเสียง ควบคุมการผลิตในทุกมิติ 

หากพูดถึงวิศวกรเสียงที่ทำงานร่วมกับวงออร์เคสตราในประเทศไทยแล้ว บอย- ประทีป เจตนากูล วิศวกรเสียงระดับแนวหน้าแห่งวงการดนตรีคลาสสิกผู้มีประสบการณ์การทำงานร่วมกับวงดนตรีชั้นนำในประเทศไทยมาอย่างโชกโชน ก็จะเป็นคนหนึ่งที่ต้องถูกกล่าวถึงในลำดับต้น ๆ

 

 

บอย ประทีป เจตนากูล

 

บอยเล่าว่า การทำงานกับวงออร์เคสตรานั้นแตกต่างจากการทำงานกับวงดนตรีทั่วไปอย่างมาก  เพราะวงออร์เคสตรามีเครื่องดนตรีหลายชิ้นซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวต่างกันอย่างชัดเจนจึงต้องใช้ชนิดของไมโครโฟนและวิธีการติดตั้งที่แตกต่างกัน เช่น เครื่องลมทองเหลืองมีเสียงดังเด่นชัดมีการกระแทกเสียงค่อนข้างรุนแรงต้องตั้งไมโครโฟนให้ห่าง หากตั้งใกล้เกินไปจะมีแรงอัดอากาศเข้าไปกระแทกทำให้เสียงผิดเพี้ยนไป เป็นต้น

แต่ในขณะเดียวกันการที่วงออร์เคสตรามีวาทยกรคอยควบคุมก็ทำให้การทำงานของวิศวกรเสียงนั้นง่ายขึ้น เนื่องจากวาทยกรจะปรับความสมดุลของเครื่องดนตรีต่าง ๆ ในวงเรียบร้อยแล้ว วิศวกรเสียงมีหน้าที่เพียงเก็บรายละเอียดการปรับเสียงให้ได้เหมือนที่วาทยกรได้ยินมากที่สุดเท่านั้น

 

 

“ดนตรีคือเครื่องมือของวิศวกรเสียงแบบพวกเรา ถ้าเรารู้จักดนตรีที่ดี ฟังดนตรีหลากหลาย เราก็จะมีเครื่องมือที่ดี มีหูที่ดี และสามารถทำงานกับดนตรีได้ทุกรูปแบบ” - บอย ประทีป เจตนากูล

 

วิศวกรเสียง (Sound Engineer) สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

1.ฝ่ายสตูดิโอเป็นวิศวกรเสียงที่ทำงานอยู่ในห้องอัดเสียงโดยเฉพาะมีหลากหลายตำแหน่งไม่ว่าจะเป็น Recording Sound Engineer ผู้มีหน้าที่นำไมโครโฟนไปติดตั้ง เพื่ออัดเสียงเครื่องดนตรีแต่ละชิ้น เมื่ออัดเสร็จเรียบร้อยจึงส่งต่อไปยัง Editing Sound Engineer ตัดแต่งเพลง ก่อนที่ Mixing Sound Engineer จะนำ    แต่ละเสียงที่ถูกตัดแต่งอย่างถูกต้องแล้วมาผสมให้กลมกลืนกันอย่างสมบูรณ์และปิดท้ายงานด้วยหน้าที่ของ Mastering Sound Engineer ปรับความดังและความถี่ของเพลงให้ได้ตรงตามมาตรฐาน

 

 

2.ฝ่ายการแสดงสด จะเป็นวิศวกรเสียงที่อยู่กับการแสดงสดหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ตในหอแสดง, เทศกาลดนตรีหรือแม้กระทั่งวงดนตรีตามร้านอาหาร โดยฝ่ายการแสดงสดจะมีหน้าที่แตกต่างออกไปเล็กน้อย เช่น System Sound Engineer มีหน้าที่ติดตั้งอุปกรณ์และระบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นลำโพง ไมโครโฟน หรือแม้แต่การจัดเรียงสายไฟหลายร้อยเส้นเพื่อนำเสียงทั้งหมดส่งเข้าสู่ Mixer หรือเครื่องผสมสัญญาณเสียง โดยมี Mixing Sound Engineer คอยผสมเสียงแบบสด ๆ เพื่อส่งออกผ่านลำโพงให้กับผู้ฟังและอาจมี Recording Sound Engineer เข้ามาทำงานร่วมในกรณีที่มีการอัดเสียงการแสดงนั้น ๆ

 

 

วิศวกรเสียงที่สามารถควบคุมและทำงานร่วมกับวงออร์เคสตราได้นั้นต้องมีความรู้ทั้งจากการเรียนดนตรีและความรู้ด้านวิศวกรรมเสียง สองศาสตร์มารวมกัน เพราะต้องสื่อสารกับวาทยกรและนักดนตรีในวงได้ สามารถอ่านโน้ตของวาทยกรซึ่งมีความละเอียด ต้องใช้ความสามารถในการคิด วิเคราะห์และประสาทสัมผัสในการฟังที่ว่องไว

ปัจจุบันนี้ยังมีวิศวกรเสียงที่ทำงานร่วมกับวงออร์เคสตราในประเทศไทยไม่มากนัก เพราะนักดนตรีที่เรียนจบมาแล้วต้องมาเรียนรู้เทคนิคของวิศวกรเสียง หลายคนก็ถอดใจไปเสียก่อน ส่วนวิศวกรเสียงบางคน อาจมีความรู้ด้านทฤษฎีดนตรีไม่มากเพียงพอ

 

“อยากส่งเสริมให้นักดนตรีรุ่นใหม่มาทำตรงนี้เยอะ ๆ ในไทยมีคนทำได้อย่างจริงจังไม่น่าจะถึง 10 คน ในขณะที่วงออร์เคสตรามีมากขึ้นทุกวัน” - บอย ประทีป เจตนากูล

 

ฟังเรื่องราวของ "Sound Engineer" เต็มๆ ได้ในรายการ Gen Z & Classical Music ตอน Sound Engineer วิศวกรเสียง คลิ๊ก: www.thaipbspodcast.com/podcast/tracks/9918

 

 

ข้อมูลโดย: ประทีป เจตนากูล

เรียบเรียงโดย: จิตริน เมฆเหลือง และ ณัฏฐา ควรขจร

ฟัง Podcast

Website | https://www.thaipbspodcast.com/podcast/programs/77

Application | Thai PBS Podcast >> https://bit.ly/3oapIlo

แผ่นเสียง แผ่นเสียง
กำลังออกอากาศ ไม่มีการออกอากาศ แผ่นเสียง Radio แผ่นเสียง Podcast เล่นแผ่นเสียง พักแผ่นเสียง
คลิปเสียงถัดไป