บทความ / นาซาเตรียมความพร้อมทดสอบจรวด SLS ก่อนส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์อีกครั้ง
Sci & Tech
นาซาเตรียมความพร้อมทดสอบจรวด SLS ก่อนส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์อีกครั้ง
29 ส.ค. 65
1,026
รูปภาพในบทความ นาซาเตรียมความพร้อมทดสอบจรวด SLS ก่อนส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์อีกครั้ง

ก้าวแรกของการไปเยือนดวงจันทร์อีกครั้งกำลังจะเริ่มต้นขึ้น นาซาเตรียมทดสอบจรวดที่ส่งยานไปโคจรรอบดวงจันทร์ก่อนที่จะกลับมายังโลก ถ้าการทดสอบสำเร็จลุล่วงจะเป็นสัญญาณของการส่งมุษย์กลับไปเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์อีกครั้งในรอบกว่า 50 ปี

จรวดขนาดยักษ์สูง 98 เมตร ขนาดเทียบเท่าตึก 32 ชั้น น้ำหนักกว่า 2.6 ล้านกิโลกรัม ตั้งตระง่านอยู่ที่ฐานปล่อยจรวด ศูนย์อวกาศเคเนดี้ แหลมคานาเวอรัล รัฐฟลอริดาของสหรัฐ นี่คือจรวด Space Launch System หรือ SLS

29 สิงหาคม 2022 คือกำหนดการปล่อยจรวด SLS ขึ้นสู่อวกาศพร้อมส่งยานโอไรออนแบบไร้คนขับ ไปโคจรรอบดวงจันทร์ ก่อนที่จะกลับมายังโลกในอีก 42 วันข้างหน้า นี่เป็นภารกิจในโครงการอาร์ทิมิส 1 เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของจรวดและการทำงานของยานอวกาศ ก่อนที่จะนำมนุษย์กลับไปเยือนดวงจันทร์อีกครั้ง

ก่อนที่จรวดจะถูกนำมาตั้งอยู่บนฐานปล่อย เจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงเพื่อขนส่งชิ้นส่วนจากโรงงานที่อยู่ห่างออกไป 6.4 กิโลเมตร ขณะที่มีประชาชนซื้อตั๋วรอเข้าชมการปล่อยจรวดอย่างล้นหลาม

จรวด SLS ถูกพัฒนาเป็นเวลากว่า 10 ปี และได้เลื่อนการปล่อยมาแล้วหลายครั้ง ก่อนที่จะประกาศวันอย่างเป็นทางการพร้อมขึ้นสู่อวกาศในช่วงปลายเดือนสิงหาคมนี้

หากการทดสอบครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ขั้นต่อไปในปี 2024 คือการส่งมนุษย์โดยสารไปกับยานอวกาศโอไรออนโคจรรอบดวงจันทร์ในโครงการอาร์ทิมิส 2 และ ปี 2025 คาดว่าจะส่งมนุษย์ไปเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์อีกครั้งในโครงการอาร์ทิมิส 3

อาร์ทิมิส เป็นโครงการที่นาซาประกาศว่า จะส่งมนุษย์กลับไปดวงจันทร์อีกครั้ง รายละเอียดของโครงการถูกเปิดเผยครั้งแรกเมื่อปี 2019 โดย จิม ไบรเดนสไตน์ ผู้อำนวยการของนาซาในขณะนั้น

แผนของนาซาในการไปดวงจันทร์ครั้งใหม่ คือการตั้งถิ่นฐานระยะยาวบนดวงจันทร์ที่จะก้าวข้ามเทคโนโลยีไปอีกขั้นและเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ทดสอบการใช้ทรัพยากรจากดวงดาว การใช้ชีวิตนอกโลกเป็นเวลานาน ก่อนที่จะเดินทางสู่เป้าหมายต่อไป คือดาวอังคาร

จากโครงการที่ริเริ่มโดยสหรัฐฯ สู่ความร่วมมือกับนานาชาติ โดยร่วมกับองค์การอวกาศยุโรป หรือ ESA ดำเนินการผลิตในส่วนยานบริการ และมีการร่างสนธิสัญญาอาร์ทิมิส เปิดโอกาสให้นักวิจัยจากประเทศสมาชิกเข้าถึงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ร่วมส่งอุปกรณ์ ยานอวกาศ รวมถึงนักบิน หนึ่งในนั้นมีประเทศจากเอเชีย คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์

ครั้งสุดท้ายที่มนุษย์ไปเหยียบบนพื้นผิวดวงจันทร์ คือปี 1972 ในภารกิจอะพอลโล 17 เป็นเวลากว่า 50 ปีแล้ว ที่ห่างหายจากการมีคนไปลงสำรวจดาวบริวารของโลกเพียงหนึ่งเดียว เมื่อภารกิจอาร์ทิมิส 1 สำเร็จลุล่วง ภาพของการเดินทางครั้งใหม่จะมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งนาซาตั้งเป้าหมายว่า จะส่งสตรีคนแรกไปเยือนดวงจันทร์ในอนาคตอันใกล้ สำหรับโครงการอาร์ทิมิส 3 ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับการทดสอบในวันที่ 29 สิงหาคม

 

 

แผ่นเสียง แผ่นเสียง
กำลังออกอากาศ ไม่มีการออกอากาศ แผ่นเสียง Radio แผ่นเสียง Podcast เล่นแผ่นเสียง พักแผ่นเสียง
คลิปเสียงถัดไป