บทความ / ผลกระทบโครงการอวกาศ จากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน
Sci & Tech
ผลกระทบโครงการอวกาศ จากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน
18 เม.ย. 65
1,943
รูปภาพในบทความ ผลกระทบโครงการอวกาศ จากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน

นับตั้งแต่ รัสเซีย เปิดปฏิบัติการทางการทหารใน ยูเครน ทำให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินในหลายพื้นที่ของประเทศ นานาชาติต่างตอบโต้การกระทำของรัสเซียด้วยการประกาศนโยบายคว่ำบาตร ตัดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบหลายด้าน รวมถึงโครงการอวกาศที่มีความร่วมมือกับรัสเซียก็เริ่มสะดุดเช่นกัน

ดิมิทรี โรโกซิน

สัญญาณแรกของความเคลื่อนไหวในโครงการอวกาศเริ่มจากท่าทีของ ดิมิทรี โรโกซิน ผู้อำนวยการองค์การอวกาศรัสเซียหรือ Roscosmos  ที่ออกมาโพสต์ทางทวิตเตอร์สนับสนุนการบุกยูเครนของกองทัพรัสเซีย เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 หลังจากนั้น โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้แถลงคว่ำบาตร รวมถึงการงดส่งออกเทคโนโลยีอวกาศไปให้กับรัสเซีย ทำให้โรโกซินออกมาตอบโต้สหรัฐฯ ผ่านทางทวิตเตอร์โดยอ้างว่ารัสเซียเป็นผู้ควบคุมสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) หากขาดรัสเซียไปจะทำให้สถานีอวกาศต้องตกลงมาสู่พื้นโลก ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นการตอบโต้ที่รุนแรง

องค์การอวกาศรัสเซียมีความร่วมมือกับองค์การอวกาศยุโรปหลายโครงการ โดยเฉพาะโครงการสำรวจดาวอังคาร Exomars ซึ่งผู้อำนวยการของ ESA ชี้แจงว่า ความร่วมมือระหว่าง ESA และ Roscosmos จะยังคงดำเนินต่อไปแม้ยังมีความขัดแย้งขึ้น แต่หลังจากนั้นไม่นาน Roscosmos ได้ประกาศตัดความสัมพันธ์กับ ESA โดยสั่งให้ชาวรัสเซียที่ทำงานร่วมมือกับยุโรปที่ Guiana Space Center ใน French Guiana กลับประเทศ ขณะที่ Euromean Commission ออกแถลงการณ์ว่าโครงการต่าง ๆ ยังคงดำเนินต่อไป

ความขัดแย้งที่ตามมาคือการที่องค์การอวกาศรัสเซียประกาศไม่สนับสนุนเทคโนโลยีจรวดให้กับยุโรปและสหรัฐฯ อีกต่อไป ทำให้โครงการสำรวจดาวอังคาร Exomars ที่รัสเซียร่วมกับยุโรปอาจจะต้องยุติไปก่อน จนไม่ทันช่วงเวลาของปีนี้ที่จะต้องส่งยานไปยังดาวอังคาร นั่นหมายความว่า จะต้องรอรอบเวลาที่เหมาะสมใหม่อีกครั้งใน 2 ปีข้างหน้า

อีกหนึ่งประเด็นร้อนที่ขยายรอยร้าวของความขัดแย้งคือ โครงการ OneWeb โครงข่ายดาวเทียมจากฝั่งอังกฤษที่ใช้ฐานปล่อยจรวดของรัสเซียคือ Roscosmos รัสเซียเรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษถอนตัวออกจากโครงการนี้และต้องทำตามอีกหนึ่งเงื่อนไขคือยืนยันว่าจะไม่ใช้ดาวเทียมนี้ในด้านการทหาร หากไม่ทำตามข้อตกลงจะไม่ปล่อยดาวเทียมให้ ทั้ง ๆ ที่ขณะนั้นได้เตรียมความพร้อมที่จะปล่อยในอีกไม่กี่วันข้างหน้าแล้ว

หลังจากนั้นไม่นาน ทางโครงการ OneWeb ได้ประกาศยุติแผนการปล่อยดาวเทียมทั้งหมดจากฐานปล่อยจรวด Baikonur และตัดสินใจไม่ทำตามข้อเรียกร้องทั้งสองของรัสเซีย ทำให้ต้องหาหน่วยงานใหม่มาปล่อยดาวเทียมที่เหลือแทน Roscosmos ซึ่งขณะนี้ OneWeb ได้ปล่อยดาวเทียมไปแล้วทั้งหมด 428 ดวงจาก 650 ดวง

Roscosmos ตัดสินใจนำ จรวด Soyuz 2.1b ลงจากฐานปล่อยแล้วนำกลับไปเก็บไว้ที่โรงประกอบตามเดิม ในวันเดียวกัน Roscosmos ก็ได้แสดงออกอย่างชัดเจนด้วยการติดสติกเกอร์ V และ Z เพื่อสนับสนุนการบุกยูเครน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์เดียวกับที่รัสเซียใช้ติดไว้กับอาวุธ รถถัง รถหุ้มเกราะ ที่ใช้ในการโจมตียูเครน

การแสดงออกนี้ถูกมองว่าเป็นการนำเรื่องของเทคโนโลยีอวกาศมาเป็นอีกเครื่องมือในการต่อสู้กับความขัดแย้ง นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงด้านอวกาศที่เกิดขึ้นจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน

ความร่วมมือรูปแบบใหม่กำลังจะเริ่มต้น ทำให้ทิศทางการพัฒนาด้านอวกาศหลังจากนี้จึงน่าจับตาอย่างมาก แนวทางในอนาคตจะเป็นอย่างไร ชวนฟังในรายการพิเศษ Sci & Tech Talk: อนาคตโครงการอวกาศท่ามกลางวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน คุยกับ ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน และ ชยภัทร อาชีวระงับโรค บรรณาธิการบริหารสื่อออนไลน์ Spaceth.co

ฟังรายการ Sci & Tech ทาง Thai PBS Podcast

คลิก >> Website | Spotify | SoundCloud | Apple Podcast | Google Podcast

หรือฟังทาง Application | Thai PBS Podcast 

สแกน QR Code ดาวน์โหลดได้ที่นี่

 

เรื่อง:        ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน และ ชยภัทร อาชีวระงับโรค
เรียบเรียง:   ธรณินทร์ เทพวงค์ 
กราฟิก:      มัณฑนา ยารังษี

แผ่นเสียง แผ่นเสียง
กำลังออกอากาศ ไม่มีการออกอากาศ แผ่นเสียง Radio แผ่นเสียง Podcast เล่นแผ่นเสียง พักแผ่นเสียง
คลิปเสียงถัดไป