บทความ / โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร
Health
โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร
11 ม.ค. 65
1,461
รูปภาพในบทความ โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร

         สุกร หรือ หมู สัตว์ตัวอ้วนกลมที่นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารได้หลากหลายชนิด รวมถึงเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของประเทศ ทำให้เกิดฟาร์มหมูเป็นจำนวนมากทั่วทุกพื้นที่ ทั้งขนาดเล็กที่เลี้ยงภายในครัวเรือนหรือเพื่อจำหน่ายในพื้นที่ และทำเป็นระดับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพื่อการค้าและส่งออก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานภาครัฐจะต้องออกมาควบคุมดูแลรักษาคุณภาพเนื้อหมูให้อยู่ในระดับที่ดี แต่กระนั้นก็ยังได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อโรคบางชนิดด้วย

         โรคอหิวาต์ในสุกรแบบธรรมดา (Classical Swine Fever: CSF) เป็นไวรัสที่พบได้บ่อยในประเทศไทย แต่ไม่น่ากังวลเนื่องจากมีความพร้อมในการควบคุม ป้องกัน และรักษาด้วยการฉีดวัคซีนอยู่แล้ว แต่สำหรับ โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever: ASF) ถือเป็นโรคใหม่และยังไม่มีวัคซีนหรือยารักษา โดยทางองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ให้ความสำคัญกับโรคนี้เป็นอย่างมาก เพราะสามารถทำลายอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรได้ทั่วโลก

         จุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาดเกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2018 จากกลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกา จากนั้นแพร่ระบาดเข้าไปยังทวีปยุโรป ตามมาด้วยทวีปเอเชีย ซึ่งพบมากในสาธารณรัฐประชาชนจีน ต่อมาปี ค.ศ. 2020 มีการตรวจพบในกลุ่มประเทศอาเซียน คือ เวียดนาม, เมียนมา, กัมพูชา, มาเลเซีย และลาว

         จากการศึกษาการแพร่ระบาดพบว่า มนุษย์ เป็นตัวกลางในการส่งต่อเชื้อแพร่ระบาดไปยังพื้นที่อื่น ๆ จากกิจกรรมสัมผัสและการเดินทาง เนื่องจากเชื้อชนิดนี้มีชีวิตทนต่อสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี เช่น

1. อยู่ในมูลสุกรหรือสิ่งแวดล้อมได้นานถึง 1 เดือน

2. อยู่ในซากสัตว์และดินได้นานถึง 3 เดือน

3. อยู่ในเนื้อแปรรูปหรือเนื้อแห้งได้นานถึง 1 ปี

4. อยู่ในเนื้อแช่แข็งได้นานถึง 3 ปี

5. อยู่รอดจากกระบวนการผลิตอาหารสัตว์ได้

6. อยู่รอดจากอาหารประเภทสุก ๆ ดิบ ๆ ที่มนุษย์กินได้โดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย แต่จะออกมาพร้อมกับการขับถ่ายและแพร่เชื้อต่อ

         หลายคนสงสัยว่า เหตุใดมนุษย์จึงกลายเป็นตัวกลางในการแพร่ระบาดโดยที่มนุษย์กลับไม่ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายเลย เนื่องจากเชื้อโรคชนิดนี้มีผลต่อปศุสัตว์เท่านั้น เพียงแต่อาศัยมนุษย์ไปสัมผัสกับหมูหรือผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ติดเชื้อที่จะติดไปกับมือ เสื้อผ้า สิ่งปูรองนั่ง หรืออาหารเสียที่มักนำไปผสมกับผักแล้วให้หมูกิน เมื่อเราไปสัมผัสหรือให้อาหารกับหมูตัวใหม่ในฟาร์มก็จะทำให้ติดได้

         อหิวาต์แอฟริกาในสุกร ได้สร้างความกังวลและผลกระทบที่อาจจะเกิดกับเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูหรือทำอุตสาหกรรมเกี่ยวกับเนื้อหมู เนื่องจากหากติดเชื้อชนิดนี้แล้ว จำเป็นต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาดและส่งผลต่อการส่งออกเนื้อหมูอีกด้วย โดยเกษตรกรสามารถสังเกตอาการของโรคชนิดนี้ได้ คือ

1. มีไข้สูง

2. เบื่ออาหารกะทันหัน

3. เลือดออกทางผิวหนังและอวัยวะภายใน

4. ท้องเสียหรืออาเจียน

5. แท้งลูก

6. เซื่องซึม

7. ไอหรือหายใจลำบาก

8. จะตายภายใน 3 – 7 วันและตายเป็นจำนวนมาก

หากเกษตรกรพบความผิดปกติในลักษณะนี้ ให้รีบแจ้งสัตวแพทย์หรือหน่วยงานเข้าตรวจสอบทันที และหากผลการตรวจสอบพบเป็นเชื้อโรคชนิดนี้ เกษตรกรต้องหยุดเลี้ยงทันที ทำลายสุกร อุปกรณ์หรือส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงทั้งหมด ห้ามเข้าออกบริเวณที่มีเชื้อ และทำการฆ่าเชื้อขนานใหญ่โดยทันทีด้วยความร้อนหรือน้ำยาฆ่าเชื้อ ที่สำคัญเกษตรกรต้องพักคอกหรือห้ามเลี้ยงอย่างน้อย 6 เดือน – 1 ปี

 

คำแนะนำสำหรับคนเลี้ยงสุกร ต้องปฏิบัติดังนี้

1. พยายามอย่าออกนอกฟาร์มโดยไม่จำเป็น

2. หากจำเป็นต้องออกนอกฟาร์ม เมื่อกลับเข้าฟาร์มต้องทำความสะอาดชำระร่างกาย เปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ทันที ส่วนชุดที่ใส่ออกนอกฟาร์มให้ซักทำความสะอาดทันที

3. จะต้องเปลี่ยนเป็นชุดที่ได้รับการทำความสะอาดใหม่ทุกครั้งก่อนเข้าฟาร์ม

4. ห้ามคนนอกเข้าฟาร์มโดยไม่จำเป็น แม้กระทั่งสัตวแพทย์ หากยังไม่เกิดโรคก็ยังไม่ต้องให้เข้า

5. ห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ติดโรคอย่างเด็ดขาด

 

ฟังรายการ โรงหมอ ทาง Thai PBS Podcast

คลิก >> Website | Spotify | SoundCloud | Apple Podcast | Google Podcast

หรือฟังทาง Application | Thai PBS Podcast 

สแกน QR Code ดาวน์โหลดได้ที่นี่

เรียบเรียง: เชาว์วรรธณ์ พยัฆพันธ์
ข้อมูล:     ศ.นสพ.ดร.สถาพร จิตตปาลวงศ์
กราฟิก:    มัณฑนา ยารังษี

แผ่นเสียง แผ่นเสียง
กำลังออกอากาศ ไม่มีการออกอากาศ แผ่นเสียง Radio แผ่นเสียง Podcast เล่นแผ่นเสียง พักแผ่นเสียง
คลิปเสียงถัดไป