บทความ / อาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่มักพบในช่วงเทศกาล
Health
อาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่มักพบในช่วงเทศกาล
27 ธ.ค. 64
1,738
รูปภาพในบทความ อาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่มักพบในช่วงเทศกาล

         เทศกาลสำคัญ ที่มักมีการเคลื่อนย้ายกลับภูมิลำเนาเป็นจำนวนมากมี 2 เทศกาลในประเทศไทยคือ เทศกาลปีใหม่ และ เทศกาลสงกรานต์ เนื่องจากมีวันหยุดยาวและเป็นช่วงที่ญาติพี่น้องหยุดพบปะกันอย่างพร้อมหน้า จึงถือได้ว่าเป็นเทศกาลที่สร้างความสุขและความอบอุ่นในครอบครัว ญาติสนิทมิตรสหาย

          ในอีกด้านหนึ่ง เทศกาลเหล่านี้ยังทำให้เกิดการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้เช่นกัน ในแต่ละปีเรามักจะได้ยินการรายงานสถิติอุบัติเหตุและการบาดเจ็บจากการเดินทางเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่จริง ๆ แล้วการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุในช่วงเวลาดังกล่าวยังมีในรูปแบบอื่นอีกด้วย

         ดร.นพ.จตุพล คงถาวรสกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ ได้จำแนกอุบัติเหตุและอาการบาดเจ็บที่มักพบในช่วงเทศกาลจากประสบการณ์การทำงานในห้องฉุกเฉินช่วงเทศกาลปีใหม่เอาไว้ 4 ประเภท ได้แก่

 

1. อุบัติเหตุจากรถยนต์

         1.1 ปัญหากระดูกคอจากคอสะบัดตอนเกิดอุบัติเหตุ : อาการคอสะบัด สามารถทำให้เกิดอาการหมอนรองกระดูกยื่นออกมาทับเส้นประสาทแบบเฉียบพลัน และมีอาการกล้ามเนื้อคออักเสบได้ แม้ในตอนประสบอุบัติเหตุใหม่ ๆ จะไม่แสดงอาการปวดแต่ควรไปพบแพทย์เพื่อ X-Ray เนื่องจากการสะบัดอย่างแรงจะทำให้ไขสันหลังไปกระแทกจนช้ำได้ หลังประสบอุบัติเหตุในเดือนแรก ยังไม่แสดงอาการ แต่เดือนถัดมาจะเริ่มแสดงอาการชาและอ่อนแรงที่แขน สาเหตุที่เดือนแรกไม่แสดงอาการเพราะเกิดจากการช้ำ แล้วทำให้เกิดการบวม น้ำที่เกิดจากการบวมจะไปกดเส้นประสาทที่ยังมีสภาพดี ทำให้มีอาการชาและอ่อนแรง และเมื่อไขสันหลังมีอาการช้ำ จะทำให้เส้นประสาทบริเวณนั้นสลายได้ (Syringomyelia)

         1.2 ปัญหาที่ช่องคอและช่องอก : มักพบกระดูกซี่โครงอักเสบจากการรัดของเข็มขัดนิรภัยเมื่อถูกดันและรัดอย่างกะทันหันตอนประสบอุบัติเหตุ การรักษากระดูกซี่โครงอักเสบจะต้องใช้เวลานับเดือนอาการจึงจะดีขึ้น

 

2. อุบัติเหตุที่เกิดจากการสังสรรค์ (ปาร์ตี้)

       

         2.1 กระดูกฝ่ามือหัก (Boxer fracture) : ส่วนใหญ่มักเกิดจากการชกหรือการฟาดด้วยความแรงในขณะไม่ได้สติจากการเมา และพบว่า คนไข้ที่ไปพบแพทย์จะมาด้วยอาการบวมบริเวณนิ้วหรือมือนั้น เมื่อถามสาเหตุ คนไข้ส่วนใหญ่จะนึกสาเหตุของอาการดังกล่าวไม่ออกเพราะเกิดเหตุในขณะเมา

         2.2 กระดูกนิ้วเท้าหัก กระดูกข้อเท้าหัก หรือ ข้อเท้าพลิก : ส่วนใหญ่มักเกิดจากการตกบันได หรือไปเตะโดนสิ่งของอย่างแรงในขณะไม่ได้สติจากการเมา

         2.3 ภาวะน้ำตาลต่ำ : ภาวะนี้ทำให้เกิดอาการหมดสติหลังดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเวลายาวนาน เช่น ดื่มตลอดเวลาช่วงเทศกาล (ตื่นเป็นดื่ม) โดยไม่รับประทานอาหารเลยจึงทำให้ปริมาณน้ำตาลในร่างกายต่ำกว่าปกติ แพทย์จะรักษาด้วยการฉีดกลูโคส 50 ml. เพื่อให้ระดับน้ำตาลกลับมาอยู่ในระดับปกติ

 

3. การทะเลาะวิวาทและพลุไฟ

         3.1 นิ้วขาดจากการการทะเลาะวิวาท : กรณีการทะเลาะวิวาทแล้วถูกของมีคมทำให้นิ้วขาด ให้นำท่อนนิ้วที่ขาดล้างด้วยน้ำเกลือธรรมดาให้สะอาด หากไม่มีน้ำเกลือให้นำผ้าสะอาดมาปิดบริเวณแผลของท่อนนิ้วที่ขาด ใส่ถุงพลาสติกสะอาดแล้วนำลงไปแช่ในถังที่มีน้ำแข็ง จากนั้นให้รีบไปโรงพยาบาล ข้อสำคัญคือ ห้ามนำท่อนนิ้วที่ขาดไปแช่น้ำแข็งโดยตรงเด็ดขาด เพราะการรักษาท่อนนิ้วต้องการเพียงแค่ความเย็นในการรักษาเซลล์ที่นิ้วมือ หากนำไปแช่น้ำแข็งโดยตรง จะทำให้ท่อนนิ้วบวมจากน้ำที่แทรกเข้าไปในเนื้อเยื่อ เมื่อแพทย์จะต่อนิ้วจะทำให้หาเส้นเลือดเจอได้ยากหรือไม่เจอเลย ที่สำคัญจะทำให้เซลล์ตายอย่างรวดเร็ว และแม้แพทย์จะต่อนิ้วสำเร็จสุดท้ายก็อาจจะทำให้นิ้วท่อนนั้นตายได้เช่นกัน 

นิ้วขาดในลักษณะนี้โดยส่วนใหญ่จะขาดในลักษณะเรียบ มีโอกาสต่อติด 80 – 90% การรักษาหรือต่อนิ้วที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดต้องรักษาภายใน 6 ชั่วโมง เนื่องจากเนื้อเยื่อมนุษย์จะทนต่อการขาดเลือดได้ไม่เกิน 6 ชั่วโมง แต่หากเกิน 6 ชั่วโมงแต่ไม่เกิน 12 ชั่วโมง ประสิทธิภาพของเนื้อเยื่อจะลดลงมา แต่หากเกิน 12 ชั่วโมง ประสิทธิภาพของนิ้วมือจะไม่ดีและท่อนนิ้วมือมักจะตายหลังจากต่อเสร็จ

        

         3.2 นิ้วขาดจากพลุไฟ : กรณีนิ้วขาดจากพลุไฟ หากขาดในสภาพที่ดี ให้ล้างน้ำสะอาดหรือน้ำเกลือเยอะ ๆ เพื่อขจัดเศษกระดาษแสะสิ่งสกปรกจากพลุไฟออกให้มากที่สุด จากนั้นนำไปใส่ถุงสะอาดแล้วแช่น้ำแข็ง แต่หากขาดไม่เป็นชิ้นเป็นอัน (ขาดรุ่งริ่ง) ให้หุ้มด้วยผ้าสะอาดแล้วนำส่งโรงพยาบาลทันที

 

4. ผู้สูงอายุ

         กระดูกบริเวณคอสะโพกหัก : สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการหกล้มด้วยสภาพความมั่นคงในการยืน เดิน และการรับน้ำหนักไม่ดีพอ รวมถึงสภาพแวดล้อมภายในบ้านที่เอื้อต่อการหกล้ม เนื่องจากภาวะนี้เมื่อไปพบแพทย์จะต้องเข้าสู่กระบวนการผ่าตัด จะทำให้กินระยะเวลารักษาอีกนาน อาจจะกระทบต่อกิจกรรมการใช้ชีวิตต่าง ๆ ของคนในครอบครัวได้

 

ข้อแนะนำสำคัญจากแพทย์เมื่อประสบอุบัติเหตุ

         1. เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายทันที เนื่องจากวันแรกที่ประสบอุบัติเหตุร่างกายจะยังไม่แสดงอาการปวด แต่เมื่อเข้าวันที่สอง ร่างกายจะแสดงอาการปวดอย่างมาก โดยแพทย์จะฉีดยาลดการอักเสบซึ่งจะลดการแสดงอาการปวดจากเส้นประสาทได้

         2. เมื่อเกิดอุบัติที่มีสาเหตุจากการเมาแล้วขับ แพทย์จะไม่สามารถรักษาให้ได้ทันที เนื่องจากปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดยังคงอยู่ในระดับสูง และร่างกายยังคงมีอาหาร ทำให้การรักษาหรือผ่าตัดไม่สามารถทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุบัติเหตุที่ทำให้กระดูกหัก จะต้องรอให้ผู้ประสบอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับสร่างเมาเสียก่อนจึงจะรักษาได้

         3. หากตื่นขึ้นมาจากการสังสรรค์แล้วพบอาการบวมตามนิ้วหรืออวัยวะอื่น ๆ โดยไม่รู้ตัว ให้ไปพบแพทย์เพื่อ X-Ray เพราะกระดูกอาจจะหักได้

         4. จากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ขั้นตอนการเข้ารับการรักษาใช้เวลานานขึ้น จะต้องผ่านการตรวจคัดกรองโควิด-19 ก่อนทำการรักษาอย่างน้อย 1 – 2 ชั่วโมง นั่นหมายความว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง ไม่สามารถรักษาได้ทันที เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

         5. ในกรณีที่เจออุบัติเหตุ หากไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญหรือมีอุปกรณ์สำหรับปฐมพยาบาล ให้โทรเรียกเจ้าหน้าที่ผ่านสายด่วนหมายเลข 1669 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เท่านั้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงซ้ำซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้

 

ฟังรายการ โรงหมอ ทาง Thai PBS Podcast

คลิก >> Website | Spotify | SoundCloud | Apple Podcast | Google Podcast

หรือฟังทาง Application | Thai PBS Podcast 

สแกน QR Code ดาวน์โหลดได้ที่นี่

เรียบเรียง: เชาว์วรรธณ์ พยัฆพันธ์
ข้อมูล:     ดร.นพ.จตุพล คงถาวรสกุล 
กราฟิก:    มัณฑนา ยารังษี

 

แผ่นเสียง แผ่นเสียง
กำลังออกอากาศ ไม่มีการออกอากาศ แผ่นเสียง Radio แผ่นเสียง Podcast เล่นแผ่นเสียง พักแผ่นเสียง
คลิปเสียงถัดไป